กรมวิทย์ ยกระดับมาตรฐานและศักยภาพห้องปฏิบัติการ ถูกต้อง แม่นยำ เชื่อถือได้

   เมื่อ : 17 มี.ค. 2568

นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นประธานเปิดการสัมมนาโครงการแผนทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข ประจำปี 2568 พร้อมด้วยนายแพทย์บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ ดร.พิไลลักษณ์ อัคคไพบูลย์ โอกาดะ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์


การสัมมนาครั้งนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรทั้งภายในและภายนอกกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้แก่ วิทยากรจากกรมควบคุมโรค โรงพยาบาลพุทธชินราช โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กองทดสอบความชำนาญ และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์


โดยมีบุคลากรของห้องปฏิบัติการเครือข่าย เข้าร่วมการสัมมนา จำนวน 250 คน ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร


นายแพทย์ยงยศ กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาโรคอุบัติใหม่และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable diseases) เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง มีอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขและเศรษฐกิจในหลายภูมิภาคทั่วโลก เพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าว


กระทรวงสาธารณสุขไทยจึงต้องเร่งพัฒนาระบบเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคให้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักด้านห้องปฏิบัติการของประเทศ ตระหนักถึงความสำคัญของการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่ถูกต้องและแม่นยำ เพื่อการวินิจฉัยและติดตามการรักษาผู้ป่วยโรคต่างๆ การเข้าร่วมแผนทดสอบความชำนาญทางห้องปฏิบัติการเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความมั่นใจในผลการทดสอบ


สอดคล้องกับระบบคุณภาพห้องปฏิบัติการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุขได้จัดแผนทดสอบความชำนาญสำหรับห้องปฏิบัติการด้านชันสูตรโรค ด้านเคมีคลินิก และด้านพิษวิทยารวม 25 แผน เพื่อพัฒนาคุณภาพห้องปฏิบัติการทางการแพทย์และสาธารณสุข


โดยมีห้องปฏิบัติการทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมเป็นสมาชิกกว่า 1,000 แห่ง ทำให้มั่นใจได้ว่าการดำเนินงานของห้องปฏิบัติการจะเป็นไปอย่างถูกต้อง แม่นยำ มีประสิทธิภาพ และธำรงรักษามาตรฐานห้องปฏิบัติการได้อย่างต่อเนื่อง


การสัมมนาฯ ในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐ ด้านสาธารณสุข (TUC) มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ห้องปฏิบัติการสมาชิกจากทั่วประเทศได้เพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะในการตรวจวินิจฉัย


รวมถึงรับฟังข้อเสนอแนะจากสมาชิกห้องปฏิบัติการที่เข้าร่วมแผนทดสอบความชำนาญทางห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบห้องปฏิบัติการของประเทศ