สถาบันไฟฟ้าฯ จับมือ กฟผ. ส่งเสริมจัดการซากเครื่องปรับอากาศแบบถูกวิธี
สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดสัมมนาเปิดตัวโครงการ “ส่งเสริมกระบวนการจัดการซากเครื่องปรับอากาศและสารทำความเย็นอย่างถูกวิธี” และได้รับเกียรติจาก นายธวัชชัย สำราญวานิช ผู้ช่วยผู้ว่าการแผนงานโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวเปิดสัมมนาและปาฐกถาพิเศษ “บทบาทของอุตสาหกรรมการทำความเย็น กับการขับเคลื่อนประเทศไทยให้มุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์”
นายธวัชชัย สำราญวานิช ผู้ช่วยผู้ว่าการแผนงานโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “โครงการส่งเสริมกระบวนการจัดการซากเครื่องปรับอากาศและสารทำความเย็นอย่างถูกวิธี” เป็นหนึ่งในโครงการสาธิตและนำร่อง ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนนวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมทำความเย็น (EGAT Cooling Innovation Fund หรือ CIF)
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์และส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญในการจัดการซากเครื่องปรับอากาศและสารทำความเย็นอย่างถูกวิธี เป็นการสนับสนุนให้ผู้รวบรวม ถอดติดตั้งเครื่องปรับอากาศมีวิธีการและอุปกรณ์ดูดกลับสารทำความเย็น
สามารถทำการรวบรวมเครื่องปรับอากาศที่หมดอายุการใช้งานและสารทำความเย็นภายในเครื่องปรับอากาศ เข้าสู่กระบวนการถอดแยกและกำจัดอย่างถูกวิธี เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการเสริมสร้างความยั่งยืนด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และพลังงาน
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จึงได้ร่วมมือกับ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ห้างสรรพสินค้า โฮมโปร และสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยศิลปากร ดำเนินโครงการ “ส่งเสริมกระบวนการจัดการซากเครื่องปรับอากาศและสารทำความเย็นอย่างถูกวิธี” ซึ่งเป็นโครงการนำร่องที่จะช่วยสนับสนุนการดำเนินการตามร่างพระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่จะมีการประกาศบังคับใช้ในอนาคต
สนับสนุนให้เกิดการลดการใช้พลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้ภาคอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นของไทยเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้ประเทศบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero Emission ตามที่ได้แสดงเจตจำนงไว้ในที่ประชุมรัฐภาคีสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 (COP26)
สำหรับกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อให้ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมภายใต้โครงการฯ ได้แก่ การจัดกิจกรรมแคมเปญ “เก่าแลกใหม่” หรือ “Old to New” ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการให้ “ส่วนลด 1000 บาท” ต่อการซื้อเครื่องปรับอากาศ 1 เครื่อง และช่วยให้ประชาชนออกมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ในส่วนภาคธุรกิจ โครงการฯ ช่วยกระตุ้นให้เกิดการซื้อ-ขายในตลาดมากขึ้น สร้างผลตอบแทนและรายได้เข้าสู่บริษัทมากขึ้น
สำหรับภาคอุตสาหกรรม โครงการฯ ช่วยให้เกิดกระบวนการจัดการอย่างถูกวิธี ตั้งแต่กระบวนการต้นทางจนถึงกระบวนการปลายทาง และช่วยผลักดันภาคอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นของไทยไปสู่เทคโนโลยีการทำความเย็นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีประสิทธิภาพการใช้พลังงานสูง
นายณรัฐ รุจิรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เปิดเผยว่า “สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ได้รับการสนับสนุนจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และความร่วมมือจากหน่วยงานพันธมิตร ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการศึกษาต่างๆ และ ห้างสรรพสินค้าโฮมโปร ในการดำเนินงานการศึกษาวิจัยกระบวนการและมาตรการการจัดการซากเครื่องปรับอากาศและสารทำความเย็นอย่างถูกวิธี เพื่อให้สอดคล้องตามร่างพระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งกระบวนการดำเนินงานโครงการครั้งนี้
สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ได้จัดกิจกรรมอบรมพัฒนาองค์ความรู้ให้กับช่างถอดติดตั้งและผู้ขนส่งซากเครื่องปรับอากาศ ที่เข้าร่วมโครงการช่วงเดือน กันยายน 2566 ที่ผ่านมา เพื่อส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการถอดติดตั้งเครื่องปรับอากาศและการดูดกลับสารทำความเย็นอย่างถูกวิธี และเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับกิจกรรม โครงการ“เก่าแลกใหม่ (Old To New)”
การจัดกิจกรรมแคมเปญ “เก่าแลกใหม่ (Old To New)” ในพื้นที่จังหวัดนนทบุรีและใกล้เคียง โดยการแจกคูปองส่วนลดให้กับผู้บริโภค สำหรับซื้อเครื่องปรับอากาศใหม่ ระบบ Inverter เบอร์ 5 ใน Home Pro จำนวน 3 สาขา ได้แก่ สาขาฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต สาขาประชาชื่น และสาขาราชพฤกษ์
ทั้งนี้การจัดกิจกรรมดังกล่าว เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมให้กับผู้บริโภค และส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญในการจัดการซากเครื่องปรับอากาศและสารทำความเย็นที่จะนำไปสู่กระบวนการจัดการอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ ผู้จำหน่าย ผู้บริโภค ผู้รวบรวมซากฯ ศูนย์รวบรวมซากฯ ผู้ขนส่งซากฯ และโรงถอดแยก/กำจัด ให้เกิดกระบวนการบริหารจัดการซากเครื่องปรับอากาศและสารทำความเย็นไปยังภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
รวมทั้งสนับสนุนกลไกในการจัดการซากผลิตภัณฑ์ตาม ร่างพระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. .... ที่จะผลักดันและเตรียมความพร้อมทำให้ประเทศไทยสามารถสร้างระบบการจัดการซากผลิตภัณฑ์ที่เป็นของเสียอันตรายได้อย่างปลอดภัย ลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและแก้ไขปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างยั่งยืน
สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (สฟอ.) เป็นสถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม การดำเนินงานประกอบด้วยศูนย์ข้อมูลอุตสาหกรรมเชิงลึก ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรม และศูนย์บริการเพื่ออุตสาหกรรมและผู้ประกอบการ มีพันธกิจในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม
สนใจศึกษารายระเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.thaieei.com หรือโทรศัพท์ 0-2280-727