สรพ.ชูเครือข่ายระบบสุขภาพระดับอำเภอเชียงของ ตัวอย่างขับเคลื่อนการสร้างสุขภาวะที่ดี
สรพ. ลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินงานเครือข่ายระบบสุขภาพระดับอำเภอเชียงของ จ.เชียงราย ยกเป็นตัวอย่างที่โดดเด่นในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านสุขภาพ เพื่อขับเคลื่อนการสร้างสุขภาวะที่ดีร่วมกันทั้งอำเภอ
พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. พร้อมผู้บริหาร สรพ. และคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ จ.เชียงราย เพื่อเยี่ยมชมความก้าวหน้าของการรับรองกระบวนการคุณภาพขั้นมาตรฐาน ตามมาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพ (Healthcare Accreditation : HA) และ การรับรองระบบบริการสุขภาพระดับอำเภอ (District Health System Accreditation : DHSA) ของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเชียงของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย
เพราะภารกิจของ สรพ. คือการสนับสนุนให้สถานพยาบาลพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและความปลอดภัย มีเป้าหมายเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย บุคลากร และประชาชน (3P Safety) ซึ่งเครื่องมือสำคัญที่ สรพ. ใช้ในการดำเนินงาน คือกลไกการรับรองคุณภาพสถานพยาบาล
ปัจจุบัน สรพ. มีกลไกการรับรองคุณภาพประเภทต่างๆ ตั้งแต่การรับรองคุณภาพขั้นมาตรฐาน (HA) การรับรองคุณภาพขั้นก้าวหน้า (Advanced HA : A-HA) การรับรองมาตรฐานเฉพาะโรค/เฉพาะระบบ (Program and Disease Specific Certification: PDSC) ฯลฯ
การลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินงานของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเชียงของในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นโรงพยาบาลที่ได้รับการรับรองคุณภาพขั้นมาตรฐานแล้ว โรงพยาบาลแห่งนี้ยังมีความพิเศษตรงที่ได้รับการรับรองระบบบริการสุขภาพระดับอำเภอ (District Health System Accreditation : DHSA)
ซึ่งเป็นมาตรฐานสำคัญในการขับเคลื่อนงานบริการสุขภาพและการสร้างสุขภาวะในระดับพื้นที่ และมีความหมายที่กว้างกว่าแค่การมีสุขภาพดี แต่ครอบคลุมไปถึงการขับเคลื่อนสังคมชุมชนไปสู่สุขภาวะที่ดีด้วย โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเชียงของ ยังเป็นเครือข่ายในการทำงานร่วมกับจังหวัด ในการประเมินการพัฒนาและรับรองระบบเครือข่ายบริการสุขภาพ (HNC)
การรับรองคุณภาพเครือข่ายบริการสุขภาพระดับจังหวัดในการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ (HNA-HIV) และเครือข่ายบริการระบบรักษาพยาบาลฉุกเฉิน หรือ ECS โดยจังหวัดเชียงรายเคยได้ good practice การดูแลผู้ป่วย HIV ด้วย
รพร.เชียงของได้สะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาคุณภาพที่ใช้ชุมชนท้องถิ่นเป็นตัวตั้ง ใช้ความเข้มแข็งของชุมชนและสังคมเคลื่อนการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีระบบบริการที่ดีขึ้นเรื่อยๆ และท้ายที่สุดการพัฒนาที่ใช้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมในการออกแบบระบบบริการโดยคำนึงถึงความเฉพาะของแต่ละโรค แต่ละประเภท
จึงเกิดเป็นประโยชน์มาจากพื้นที่ให้ความสำคัญกับชุมชนสังคมและองค์กรที่ขับเคลื่อนไม่ว่าจะเป็น รพ.สต.ที่อยู่ในสังกัดหรือใช้กลไก พชอ.การสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านสุขภาพ เพื่อขับเคลื่อนการสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับประชาชนร่วมกันทั้งอำเภอ และถือเป็นตัวอย่างที่เด่นชัดในการตอบโจทย์การใช้กลไกการรับรองคุณภาพสถานพยาบาลเพื่อนำไปสู่เป้าหมายการสร้างความปลอดภัยของผู้ป่วย บุคลากรและประชาชน
โดยกลไกการรับรองคุณภาพขั้นมาตรฐาน เป็นส่วนที่ตอบโจทย์ความปลอดภัยของผู้ป่วย (Patients) และบุคลากร (Personnel) แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ P ที่ 3 คือ “ประชาชน” (People) ซึ่งมีขอบเขตการดำเนินงานครอบคลุมออกไปนอกพื้นที่โรงพยาบาล และต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนให้ประชาชนมีสุขภาวะที่ดี
ซึ่งการได้รับการรับรองมาตรฐาน DHSA ก็เป็นกระบวนการสำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือในพื้นที่ จนกระทั่งเห็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมในการขับเคลื่อนองคาพยพต่างๆ ในระดับอำเภอโดยมีเป้าหมายร่วมกันคือชุมชนมีสุขภาวะที่ดีนั่นเอง
ด้านนายแพทย์นพปฎล พรรณราย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเชียงของ กล่าวว่า โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเชียงของ ได้รับการรับรอง DHSA มาตั้งแต่ปี 2566 การพัฒนาเครือข่ายระดับอำเภอ ภายใต้กลไก พชอ. และ คปสอ. นั้น มีหลักในการดำเนินงานคือ “DS 02051 ร่วมใจ อนามัยสมบูรณ์ เพิ่มพูนคุณภาพชีวิต”
ซึ่งคำว่า DS 02051 หมายถึงประชาชนทุกคน ทุกหมู่บ้าน/ชุมชน ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มวัย ทุกพื้นที่ในอำเภอ ร่วมใจ หมายถึง ความร่วมมือ ร่วมใจ บูรณาการ ทุกภาคส่วนตามแนวทางประชารัฐ
อนามัยสมบูรณ์ หมายถึง ความสมบูรณ์ของสุขภาพในทุกมิติ เพิ่มพูน หมายถึง การช่วยเหลือเกื้อกูล ดูแลเอาใจใส่ไม่ทอดทิ้งกัน และคุณภาพชีวิต หมายถึง ความเป็นอยู่ที่ดี ทั้งด้านกาย จิต เศรษฐกิจ สังคมของคน โดยได้กำหนดทิศทางนโยบายที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาในพื้นที่ อำเภอ 5 เรื่องคือ 1. พัฒนาระบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียงและผู้ด้อยโอกาส
2. การลดและป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง 3. การใช้ยาอย่างสมเหตุผล 4. การรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด 5. การป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก และการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อโควิด-19 และในแต่ละเรื่องจะมีโครงการหรือภาคประชาสังคมในการขับเคลื่อนงาน อาทิ กลุ่มสตรีสุขใจ และชมรมวิ่งเพื่อสุขภาพอำเภอ
กลุ่มวัยทำงานแข็งแรง ที่เน้นในด้านการลดและป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือการใช้โครงการ TO BE NUMBER ONE เพื่อรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด เป็นต้น
นอกจากนี้ยังเกิดภาพความร่วมมือในการทำงานด้านสุขภาพกับชุมชนในการการออกแบบบริการสร้างเสริมสุขภาพครอบคลุมทุกกลุ่มวัยและเน้นการเสริมพลังเครือข่ายชุมชนในการดูแลสุขภาพ การปรับสิ่งแวดล้อมแบบการพึ่งพาตนเองและสอดคล้องกับนโยบายของ พชอ.
จนเกิดผลลัพธ์ที่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของชุมชนในแง่ที่ดีขึ้น เช่น เกิดหมู่บ้าน/ชุมชนต้นแบบที่หลากหลาย เช่น ชุมชนลดเค็มลดโรค ในชุมชนมีการรวมกลุ่มเพื่อดูแลสุขภาพ เช่น ชมรมรักสุขภาพ ชมรมอุ่นไอรัก ชมรมผู้สูงอายุ กลุ่มเยาวชน กลุ่มแม่บ้าน เป็นต้น