กรมควบคุมโรค จัดประชุมฯ นานาชาติ ยกระดับการป้องกันโรค สู่การเปลี่ยนแปลงยั่งยืน

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จัดการประชุมวิชาการด้านโรคจากการประกอบอาชีพ และสิ่งแวดล้อมระดับนานาชาติ ครั้งที่ 4 (4th International Conference on Occupational and Environmental Diseases - 4th ICOED) ระหว่างวันที่ 5 - 7 มีนาคม 2568 ณ โรงแรมแกรนด์ริชมอนด์ สไตลิช คอนเวนชั่น จังหวัดนนทบุรี ภายใต้แนวคิด “ยกระดับงานอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม นำสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน”
นายแพทย์ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม พร้อมกล่าวถึงความสำคัญของการเฝ้าระวังและควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญ
ที่ส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนและคนทำงาน การประชุมครั้งนี้ถือเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิชาการ ประสบการณ์ และแนวทางปฏิบัติที่ดี ในการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม
ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ อันนำไปสู่การยกระดับการดำเนินงานด้านโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับองค์การระหว่างประเทศ ได้แก่ องค์การอนามัยโลก (WHO), องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO), สำนักงานเลขาธิการอาเซียน (ASEAN Secretariat)

รวมถึงนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยชั้นนำของโลก นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอผลงานวิชาการ ทั้งในรูปแบบบรรยายและโปสเตอร์ เพื่อส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมการป้องกันโรคและการรักษาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
นายแพทย์ดิเรก ขำแป้น กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจดิจิทัลและสภาพแวดล้อมส่งผลต่อสุขภาพแรงงานและประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กรมควบคุมโรคจึงให้ความสำคัญกับ การพัฒนากลไกเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม
โดยอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีและสามารถทำงานในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยได้อย่างยั่งยืน


แพทย์หญิงฉันทนา ผดุงทศ ผู้อำนวยการกองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถิติย้อนหลัง 3 ปี (2565 - 2567) พบว่าโรคจากการทำงานยังคงเป็นปัญหาสำคัญ โดยในปีที่ผ่านมามีรายงานผู้ป่วยโรคปอดจากการทำงานเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 20 โรคระบบกระดูกและกล้ามเนื้อจากการทำงานกว่าร้อยละ 35 และโรคจากการสัมผัสสารเคมีอันตรายมากกว่า 10,000 รายทั่วประเทศ
นอกจากนี้ จากข้อมูลของกองทุนเงินทดแทน พบว่ามีผู้ประสบอุบัติเหตุจากการทำงานเฉลี่ยกว่า 70,000 รายต่อปีและมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 500 ราย โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุในสถานประกอบการเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 15 นอกจากนี้ ปัญหามลพิษทางอากาศ และน้ำ ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อสุขภาพประชาชน
โดยเฉพาะโรคทางเดินหายใจจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในพื้นที่เขตอุตสาหกรรมและเมืองใหญ่ รวมถึงผลกระทบจากสารเคมีปนเปื้อนในแหล่งน้ำที่ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของประชาชนในระยะยาว การประชุมครั้งนี้มุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับมาตรการป้องกัน พร้อมนำเสนอเทคโนโลยีใหม่ และการรูปแบบการดูแลสุขภาพ รวมถึงกลุ่มแรงงานอิสระที่เพิ่มมากขึ้น
ภายหลังสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ผ่านมา เช่น กลุ่มไรเดอร์ส่งอาหาร พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ เป็นต้น ที่มีความเสี่ยงสุขภาพ เพื่อการกำหนดนโยบายลดโรคจากการทำงานและโรคจากสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต (lifestyle) และเน้นการดูแลสุขภาพตนเองได้

ตลอดระยะเวลา 3 วันของการประชุม ยังมีการจัด นิทรรศการด้านอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม
มอบรางวัล“สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดดีเด่น” ด้านการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติแก่หน่วยงานที่มีผลการดำเนินงานโดดเด่น
มีความมุ่งมั่นในการพัฒนางานด้านการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้าน Digital Health สำหรับป้องกันและควบคุมโรคในสถานประกอบการ
การประชุมวิชาการครั้งนี้นับเป็นโอกาสสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยให้ก้าวสู่มาตรฐานระดับสากลอย่างยั่งยืน


