ทีเส็บ ปั้น MICE Coffee Break ประตูชุมชนสู่โอกาสใหม่ในธุรกิจการจัดประชุมสัมมนา

   เมื่อ : 21 ม.ค. 2568

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยว่า โครงการ MICE Coffee Break ชุมชน ภาคกลางและภาคตะวันออก ปี 2567 มีเป้าหมาย เพื่อส่งเสริมและพัฒนาเมนูอาหารพื้นบ้านที่มีอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น 

ร่วมกับชุมชนนำเอาวัตถุดิบมารังสรรค์เมนูใหม่ยกระดับสู่อุตสาหกรรมไมซ์ เป็นเมนู MICE Coffee Break ชุมชน เพื่อการจัดประชุมสัมมนา สร้างโอกาสให้ชุมชนในภูมิภาคของประเทศไทย สามารถก้าวเข้าสู่ห่วงโซ่ธุรกิจอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) ได้อย่างมีคุณภาพ สร้างงาน สร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน

โดยในภาพรวมอุตสาหกรรมไมซ์ไทย ปี 2567 เติบโตกว่า 5% มีนักเดินทางไมซ์ กว่า 25350288 คน สร้างรายได้จากการใช้จ่ายของนักเดินทางไมซ์ 148341 ล้านบาท แบ่งเป็นนักเดินทางไมซ์จากต่างประเทศ 1160569 คน สร้างรายได้ 69594 ล้านบาท และนักเดินทางไมซ์ในประเทศ 24189719 คน สร้างรายได้ 78747 ล้านบาท 

 

สำหรับปี 2568 ทีเส็บ มีแนวทางในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ไทย พัฒนา“แบรนด์ประเทศไทย” ในฐานะ “จุดหมายปลายทางของการจัดงานไมซ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูง” (High Value-Added MICE Destination) โดยนำ “ซอฟต์พาวเวอร์” (Soft Power) มาช่วยยกระดับประสบการณ์ให้กลุ่มนักเดินทางไมซ์ 

ซึ่งทีเส็บได้กำหนดเป้าหมายสิ้นปีงบประมาณ 2568 ประเทศไทยจะมีนักเดินทางไมซ์ทั้งต่างประเทศและในประเทศ รวมทั้งสิ้น 34000000 คน สร้างรายได้จากการใช้จ่ายของนักเดินทาง 200000 ล้านบาท

การดำเนินโครงการ MICE Coffee Break ชุมชน ภาคกลางและภาคตะวันออก ประกอบด้วยกิจกรรมมากมาย ตั้งแต่การคัดเลือกเฟ้นหาชุมชนเข้าร่วมโครงการฯ โดยมีคณะกรรมการพิจารณาเกณฑ์และคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการฯ ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิจากสาขาอาหารและไมซ์ 

มีวิสาหกิจชุมชนสมัครเข้าร่วมโครงการจำนวน 75 ชุมชน ผ่านเกณฑ์คัดเลือกเบื้องต้น จำนวน 60 ชุมชน จาก 20 จังหวัด และมีการจัดสัมภาษณ์คัดเลือกชุมชนเข้าร่วมโครงการฯ ในระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม - 1 พฤศจิกายน 2567 

 

โดยมีวิสาหกิจชุมชนผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 35 ชุมชน จาก 15 จังหวัด ทั้งจากภาคกลางและภาคตะวันออก รวมจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการ 89 คน ประกอบด้วยกิจกรรม ดังนี้

1 กิจกรรมประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างองค์ความรู้ด้านการจัดการพัฒนาเมนู Coffee Break เพื่อการประชุม ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 - 22 พฤศจิกายน 2567 เพื่อสร้างองค์ความรู้และทักษะในการยกระดับเมนูอาหารว่างท้องถิ่นสู่เมนู MICE Coffee Break เพื่อการประชุม โดยมีเนื้อหาครอบคลุม ความเข้าใจในอุตสาหกรรมไมซ์ การถ่ายทอดเรื่องราว (Storytelling) 

การทำการตลาดและสร้างแบรนด์ เทคนิคการเจรจาธุรกิจ การพัฒนาองค์ความรู้ด้านอาหาร การจัดและประดับตกแต่งเมนูอาหารว่าง การบริหารจัดการต้นทุนและการตั้งราคา การยืดอายุผลิตภัณฑ์อาหาร มาตรฐานอาหารปลอดภัย เป็นต้น

2 กิจกรรมการประกวดแข่งขัน MICE Coffee Break ชุมชน ภาคกลางและภาคตะวันออก จัดขึ้นในวันที่ 17 ธันวาคม 2567 เพื่อเฟ้นหาสุดยอดเมนูอาหารว่าง MICE Coffee Break มีวิสาหกิจชุมชนที่ผ่านการฝึกอบรมเชิงปฎิบัติการ สมัครเข้าแข่งขัน จำนวน 30 ชุมชน 

โดยคณะกรรมการตัดสินเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากอุตสาหกรรมไมซ์ อุตสาหกรรมอาหาร และกูรูผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารระดับประเทศ ประกอบด้วย รางวัล MICE Coffee Break ชุมชน ประเภท Excellence Award 2024 จำนวน 1 รางวัล 

ซึ่งได้รับโล่ห์รางวัลและเงินรางวัลมูลค่า 20000 บาท ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวตำบลตะเคียนเตี้ย จังหวัดชลบุรี จากเมนูขนมดอกมะพร้าว 

รางวัล MICE Coffee Break ชุมชน ประเภท Best Award 2024 จำนวน 4 รางวัล ซึ่งได้รับโล่ห์รางวัลและเงินรางวัลมูลค่า 10000 บาท ได้แก่ 1.วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรบ้านตม จังหวัดชลบุรี จากเมนูเฟื่องสุข

2.วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเมืองสาปยา จังหวัดชัยนาท จากเมนูมัจฉาหมี่กรอบ 3. วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกแตงโม และผักผลไม้ปลอดสาร จังหวัดชลบุรี จากเมนูMelon Romance และ (4.) วิสาหกิจชุมชนส่งเสริมอาชีพผู้เลี้ยงชันโรงบ้านทับมา จังหวัดระยอง จากเมนูเกสรซ่อนกาย

3 กิจกรรมส่งเสริมการขายและการตลาดเจรจาธุรกิจ (Business Matching) จัดขึ้นในวันที่ 18 ธันวาคม 2567 จับคู่ธุรกิจระหว่างวิสาหกิจชุมชนที่เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 33 ชุมชน และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไมซ์ ช่วยสร้างโอกาสในการขยายช่องทางการตลาดและสร้างรายได้ที่มั่นคงในอนาคต 

 

โดยมีผู้ประกอบการจากหน่วยงานภาคเอกชน สมาคม และธุรกิจโรงแรมและที่พัก เข้าร่วมกว่า 40 ราย เกิดการเจรจาจับคู่ธุรกิจ จำนวน 218 คู่ธุรกิจ ประมาณการมูลค่าที่เกิดขึ้นจากการจองซื้อเมนู MICE Coffee Break วัตถุดิบท้องถิ่น และการใช้บริการที่เกี่ยวเนื่อง คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 3 ล้านบาท

 

โครงการนี้จะช่วยเสริมสร้างองค์ความรู้ ทักษะ และแรงบันดาลใจให้กับผู้เข้าร่วมโครงการฯ ในการพัฒนาวัตถุดิบและเมนูอาหารพื้นบ้านที่มีอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล บนพื้นฐานความคิดสร้างสรรค์ ความปลอดภัยทางอาหาร ความสม่ำเสมอ และการยกระดับสู่ธุรกิจบริการอาหารมืออาชีพ 

ถือเป็นการนำกลยุทธ์ “ซอฟต์พาวเวอร์” (Soft Power) พร้อมเชื่อมโยงโอกาสทางการตลาดกับภาคธุรกิจการจัดงานประชุมสัมมนาหรืออุตสาหกรรมไมซ์ เป็นการสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนให้เติบโต สร้างงาน สร้างรายได้ที่ยั่งยืนได้ในที่สุด

ด้าน ดร.ศุภวรรณ ตีระรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวถึงการดำเนินงานภายใต้โครงการบูรณาการเพื่อยกระดับวัตถุดิบและวัฒนธรรมอาหารพื้นบ้านชุมชนสู่เมนู Coffee Break เพื่อการประชุม (MICE Coffee Break ชุมชน) เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และผลผลิตของโครงการ 

ผ่านการนำเสนอเอกลักษณ์และความหลากหลายของวัตถุดิบท้องถิ่น มานำเสนอเป็นเมนูอาหารว่างท้องถิ่น MICE Coffee Break มาผสานเข้ากับมาตรฐานปรุงที่สม่ำเสนอ การบริการบนมาตรฐานความปลอดภัยและสุขลักษณะทางอาหารได้อย่างลงตัวพร้อมทั้งสร้างสรรค์แนวทางที่ยั่งยืนและมีศักยภาพในการขยายธุรกิจ 

โดยการจัดหลักสูตรการประชุมเชิงปฏิบัติการ ที่มุ่งเน้นการกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ผ่านการเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องราว (Storytelling) การจัดจานและกล่องอาหาร การจัดทำคู่มือมาตรฐานเชิงปฏิบัติการ (Standard Operation Procedure SOP) เพื่อให้เกิดความสม่ำเสมอของการปรุงอาหารว่างในทุกเมนู
พร้อมทั้งเรียนรู้การบริหารจัดการต้นทุนและการตั้งราคา เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการประกอบธุรกิจ ต่อยอดสู่แนวทางการแปรรูปให้สามารถยืดอายุเป็นของขวัญของฝากได้อย่างมีมาตรฐาน ความปลอดภัยอาหาร

พร้อมทั้งเรียนรู้การบริหารจัดการต้นทุนและการตั้งราคา เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการประกอบธุรกิจ ต่อยอดสู่แนวทางการแปรรูปให้สามารถยืดอายุเป็นของขวัญของฝากได้อย่างมีมาตรฐาน ความปลอดภัยอาหาร 

นอกจากวิสาหกิจชุมชนจะได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้จากโครงการนี้แล้ว จากกิจกรรมส่งเสริมการขายและการตลาดเจรจาธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่จัดประชุมเสวนา ผู้ประกอบการด้านธุรกิจบริการ ร้านอาหาร โรงแรมหรือธุรกิจที่เกี่ยวข้อง 

ยังเป็นโอกาสที่ดีที่หลายภาคส่วนได้เห็นความสำคัญของธุรกิจชุมชน ร่วมกันสร้างสรรค์ สร้างโอกาสใหม่ๆ ต่อยอดขยายเครือข่ายธุรกิจของชุมชนที่มีให้มีความเข้มแข็งและมีมาตรฐานสากล สามารถเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมไมซ์ได้สำเร็จตามเป้าหมายของโครงการฯ 

โครงการ MICE Coffee Break ชุมชนภาคกลางและภาคตะวันออก ยังได้มีการจัดทำ Guideline book เพื่อพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในการสร้างเมนูอาหารว่างเพื่อการประชุม MICE Coffee Break เพื่อใช้ในการต่อยอดให้แก่วิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย 

 

ซึ่งจะช่วยในการพัฒนาและส่งเสริมผลิตภัณฑ์อาหารจากวัตถุดิบท้องถิ่นให้มีคุณภาพและมาตรฐานที่สามารถแข่งขันในตลาดไมซ์ ทั้งในและต่างประเทศ 

 

การสนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการผลิตและจำหน่ายสินค้าอาหารช่วยสร้างอาชีพและเสริมสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ ทั้งยังช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวคุณภาพสูงและการรับรู้ถึงคุณค่าของวัฒนธรรมอาหารท้องถิ่นต่อไป