ก้าวเข้าสู่ปีใหม่ ปลอดโรค ภัยสุขภาพ ครอบครัวแข็งแรง

แพทย์หญิงจุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค และนายแพทย์วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค ดำเนินการแถลงข่าวในหัวข้อ “ก้าวเข้าสู่ ปีใหม่ ปลอดโรคและภัยสุขภาพ” พร้อมแนะวิธีดูแลตนเองและคนในครอบครัวให้แข็งแรงและห่างไกลจากโรคต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงนี้
โควิด 19 แนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากประเทศไทยเข้าสู่ฤดูหนาว เชื้อไวรัสแพร่กระจายได้ดี ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม - 14 ธันวาคม 2567 มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 44548 ราย เสียชีวิต 220 ราย โดยระหว่างวันที่ 8 - 14 ธันวาคม 2567 พบผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 730 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต
ไข้หวัดใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 7 ธันวาคม 2567 พบผู้ป่วย 639108 ราย ส่วนใหญ่ยังคงเป็นกลุ่มเด็กเล็ก และวัยเรียน ผู้เสียชีวิต 48 ราย เป็นกลุ่มที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ไม่ได้รับวัคซีน และผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป
ไข้เลือดออก ผู้ป่วยลดลงอย่างต่อเนื่อง ผู้ป่วยสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 11 ธันวาคม 2567 จำนวน 101581 ราย ยังคงพบผู้ป่วยสูงในภาคใต้ เนื่องจากภาคใต้ยังคงมีฝนตกและน้ำท่วม ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยเรียน ผู้เสียชีวิต 105 ราย เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป
โรคไอกรน เป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ติดต่อผ่านละอองฝอยที่เกิดจากการไอหรือจาม ติดง่ายในเด็กเล็กหรือ ผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรค จะมีอาการคล้ายไข้หวัด ไอ ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 12 ธันวาคม 2567 พบผู้ป่วย 1245 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี มีประวัติได้รับวัคซีน ไม่ครบ
โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน/อาหารเป็นพิษ จากเชื้อโนโรไวรัส (Norovirus) สถานการณ์โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันจากเชื้อไวรัสในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2561 - 2567 พบผู้ติดเชื้อ Norovirus GI GII จำนวน 729 ราย เป็นเพศชาย 422 ราย เพศหญิง 307 ราย
ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และในปีนี้ สถานการณ์โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันหรืออาหารเป็นพิษจากเชื้อโนโรไวรัส (Norovirus) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 13 ธันวาคม 2567 พบการระบาด 85 เหตุการณ์ พบมากที่สุดในโรงเรียน จำนวน 12 เหตุการณ์ มีผู้ป่วย 991 ราย

โรคจากต่างประเทศ ที่กรมควบคุมโรคเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ ได้แก่ ไข้หวัดนก สถานการณ์ทั่วโลก ยังพบมีรายงานเป็นระยะ โดยเฉพาะสายพันธุ์ H5N1 แต่ยังไม่พบการติดต่อจากคนสู่คน
ล่าสุดพบผู้ติดเชื้อในประเทศเวียดนาม 1 ราย มีประวัติพบสัตว์ปีกป่วยตายใกล้บ้านผู้ป่วยหลายร้อยตัว ขณะนี้ผู้ป่วยยังรักษาอยู่ในโรงพยาบาล และพบผู้ป่วย 2 ราย ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา มีประวัติสัมผัสกับสัตว์ปีกที่ติดเชื้อในฟาร์ม
ฝีดาษวานร สถานการณ์ทั่วโลกในปี 2567 พบผู้ป่วยจำนวน 19823 ราย เสียชีวิต 73 ราย และในทวีปแอฟริกา พบผู้ป่วย 13257 ราย เสียชีวิต 60 ราย สำหรับประเทศไทยในปี 2567 ตั้งแต่ต้นปี - 14 ธันวาคม 2567 พบผู้ป่วย 175 ราย
ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ Clade II ส่วนสายพันธุ์ Clade Ib ยังคงพบแค่ 1 ราย คำแนะนำสำหรับประชาชน ให้หลีกเลี่ยงสถานที่แออัดหรือสัมผัสผู้มีผื่นสงสัย ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น หมั่นล้างมือ ทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วม
ไข้โอโรพุช สถานการณ์ทั่วโลก 1 มกราคม - 25 พฤศจิกายน 2567 พบผู้ป่วย 11664 ราย เสียชีวิต 2 ราย พาหะหลัก คือ ตัวริ้น และอาจพบได้ในยุง พบผู้ป่วยมากในทวีปอเมริกา ระยะฟักตัว 4-8 วัน ผู้ป่วยจะมีไข้เฉียบพลัน หนาวสั่น ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อปวดข้อ ปวดกระบอกตา และผื่น มีเลือดออกที่ผิวหนัง เลือดกำเดา และตามไรฟัน
ในประเทศไทย มีความเสี่ยงการระบาดค่อนข้างต่ำมาก เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในทวีปอเมริกาใต้ พาหะหลักคือตัวริ้น ซึ่งไม่มีรายงานพบในประเทศไทย
ภาวะปอดอักเสบ จากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า แนวโน้มการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนไทย เพิ่มสูงขึ้น 5.3 เท่า ในช่วง 7 ปี ที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2558 - 2565
ปีนี้พบผู้ป่วยยืนยันจำนวน 3 ราย มีประวัติสูบบุหรี่ไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่อง ไม่น้อยกว่า 90 วัน ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบปอดมีลักษณะเป็นฝ้า ยืนยันไม่พบการติดเชื้อทั้งเชื้อไวรัส เชื้อรา และเชื้อแบคทีเรีย

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายในการป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษา ดังนี้ 1.พัฒนาองค์ความรู้ถึงโทษพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้าแก่เด็ก เยาวชน และสาธารณชน
2.สร้างค่านิยมให้แก่เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ “ไม่มี ไม่ใช้ ไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า”
3.เน้นย้ำให้โรงเรียนทุกแห่งดำเนินการสื่อสาร รณรงค์ สร้างกระแส ในสถานศึกษาประเด็น “ไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า” พร้อมเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับร้านค้าที่มีการขายหรือจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าในพื้นที่
ประเด็นเพิ่มเติม การรณรงค์ 7 วันอันตราย ช่วงเทศกาลปีใหม่ ข้อมูลของปีที่แล้วระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2566 - 4 มกราคม 2567 เกิดอุบัติเหตุ 2288 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 284 ราย สาเหตุอันดับ 1 คือ ขับรถเร็ว (38.90%) รองลงมาดื่มแล้วขับ (23.16%)
สำหรับแนวทางการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 เน้นย้ำมาตรการ “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” และ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ข้อมูลสถิติและปัญหาด้านการดื่มพื้นที่ เพื่อระบุพื้นที่เสี่ยง และกลุ่มเสี่ยงในเขตพื้นที่รับผิดชอบ
กำหนดมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลปีใหม่อย่างเข้มงวด และบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดทุกราย ตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ ในผู้ขับขี่ทุกรายที่เกิดอุบัติเหตุ และรายงานผลการดำเนินงานทุกวัน
