กรมควบคุมโรค แนะประชาชน รู้เท่าทันโรค ภัยสุขภาพ ช่วงปลายฝน
แพทย์หญิงจุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค และนายแพทย์วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค ดำเนินการแถลงข่าวในหัวข้อ “รู้เท่าทันโรค และภัยสุขภาพ พร้อมรับมือช่วงปลายฝน” พร้อมแนะนำวิธีรับมือโรคและภัยสุขภาพในช่วงอากาศเริ่มเปลี่ยนแปลงนี้
โควิด 19 แนวโน้มผู้ป่วยลดลง ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม - 5 ตุลาคม 2567 มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 39433 ราย เสียชีวิต 211 ราย โดยระหว่างวันที่ 29 กันยายน - 5 ตุลาคม 2567 พบผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 281 ราย เสียชีวิต 4 ราย ผู้เสียชีวิตเป็นผู้สูงอายุ และมีโรคประจำตัว
ไข้หวัดใหญ่ แนวโน้มผู้ป่วยลดลง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 21 กันยายน 2567 พบผู้ป่วย 532990 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กเล็กและวัยเรียน พบผู้เสียชีวิต 39 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง และสูงอายุ 65 ปีขึ้น
โรคติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (RSV) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 1 ตุลาคม 2567 มีรายงานผู้ป่วยปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี 5012 ราย (1.78% ของผู้ป่วยปอดอักเสบทั้งหมด)
สำหรับในช่วงปลายฝน ถึงแม้สถานการณ์ผู้ป่วยลดลง แต่เมื่อจะเข้าสู่ฤดูหนาวที่แนวโน้มการระบาดของโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจมักเพิ่มขึ้น ขอเน้นย้ำให้ประชาชน ยังคงตระหนักในการป้องกันการแพร่ระบาด ของทั้ง 3 โรคดังกล่าว โดยดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด
ดังนี้ 1. ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ 2. เลี่ยงการนำมือมาสัมผัสจมูก ปาก ตา 3. หากไปในสถานที่ปิดหรือแออัด ควรสวมหน้ากากอนามัย 4. ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น 5. หมั่นเช็ดถูทำความสะอาดของเล่นเด็กเป็นประจำ โดยเฉพาะหลังพบเด็กป่วย และ 6. เลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ
ไข้เลือดออก ยังคงพบผู้ป่วยต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 2 ตุลาคม 2567 พบผู้ป่วย 84434 ราย พบมากสุดในกลุ่มเด็กนักเรียน มีผู้เสียชีวิต 84 ราย เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ และมีโรคประจำตัว ยังคงขอเน้นย้ำมาตรการสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย พร้อมกับเน้นเรื่องการสื่อสารให้งดจ่ายยากลุ่ม NSAIDs แก่ผู้ป่วยที่สงสัย เป็นโรคไข้เลือดออก
ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายเลือดออกในทางเดินอาหาร และขอแนะนำให้ประชาชนทายากันยุง เพื่อป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด รวมถึงผู้ป่วยไข้เลือดออกให้ทายากันยุงด้วยเช่นกัน เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไข้เลือดออกสู่บุคคลในครอบครัวและชุมชน
สำหรับโรคและภัยสุขภาพที่ยังคงต้องติดตามใกล้ชิดในช่วงอุทกภัยนี้ ได้แก่ ไข้ฉี่หนู เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน สัตว์รังโรคที่สำคัญ ได้แก่ หนู หมู วัว ควาย แพะ แกะ สุนัข ตั้งแต่ต้นปีพบผู้ป่วยแล้ว 2926 ราย
กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ 55-64 ปี (ร้อยละ 20) และ 45-54 ปี (ร้อยละ 19.23) เสียชีวิต 29 ราย อายุเฉลี่ย 49 ปี ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ร้อยละ 66 ของผู้เสียชีวิต มักเกิดจากการไปพบแพทย์ช้าหรือซื้อยามารับประทานเองก่อน
โรคเมลิออยด์ (ไข้ดิน) พบได้ในแหล่งดินและน้ำตามธรรมชาติทั่วประเทศ ตั้งแต่ 1 มกราคม - กันยายน 2567 พบผู้ป่วย 2881 ราย (อัตราป่วย 4.44 ต่อแสนประชากร) ผู้เสียชีวิต 90 ราย (อัตราตาย 0.14 ต่อแสนประชากร) ร้อยละ 76.7 มีประวัติเสี่ยงสัมผัสดินและน้ำ เช่น ทำนา ทำสวน ปลูกผัก ลุยน้ำ ชึ่งเชื้อสามารถเข้าได้ทางผิวหนัง โดยการสัมผัสดินและน้ำเป็นเวลานาน การกิน หรือดื่มน้ำไม่สะอาด และการหายใจเอาละอองฝุ่นดินเข้าไป
ทั้ง 2 โรคดังกล่าว มีวิธีป้องกันที่ควรปฏิบัติ ดังนี้ 1.หลีกเลี่ยงการแช่น้ำเป็นเวลานานหรือเดินลุยน้ำย่ำโคลนด้วยเท้าเปล่า และเมื่อขึ้นจากน้ำให้รีบทำความสะอาดทันที 2.น้ำดื่มควรมาจากแหล่งที่ได้มาตรฐาน 3.รับประทานอาหารที่สะอาดปรุงสุกใหม่ 4.ทำความสะอาดที่พัก ทิ้งเศษอาหารในถุงและมัดถุงให้แน่น ไม่ให้เป็นแหล่งเชื้อโรค 5.หากมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ และอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1-2 วัน ให้รีบไปพบแพทย์และแจ้งประวัติเสี่ยง
น้ำท่วม ดินถล่ม ข้อมูลระหว่างวันที่ 16 สิงหาคม - 2 ตุลาคม 2567 พบผู้เสียชีวิต 55 ราย แยกเป็น จมน้ำ 28 ราย ดินถล่ม 24 ราย ไฟช็อต 2 ราย ผู้เสียชีวิตอายุ 45 ปี ขึ้นไป การปฏิบัติเมื่อเจอน้ำท่วม ดินถล่ม 1.ให้รีบอพยพไปยังพื้นที่สูง ควรอพยพทันทีไปตามเส้นทางที่ปลอดภัยให้พ้นจากการไหลของดินอย่างน้อย 2-5 กิโลเมตร 2.หลีกเลี่ยงเส้นทางน้ำเชี่ยว 3.ควรอยู่ห่างลำน้ำ ป้องกันดิน หิน ต้นไม้ ที่อาจไหลตามน้ำมา 4.เมื่อพลัดตกน้ำให้หาจุดยึดเกาะและปีนให้พ้นน้ำ และควรติดตามข้อมูลข่าวสารสภาพอากาศตลอดเวลา
สถานการณ์โรคระบาดในต่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่ โรคไข้หวัดนก ยังพบมีรายงานเป็นระยะ โดยเฉพาะสายพันธุ์ H5N1 ซึ่งติดต่อจากสัตว์สู่คน และยังยากในการติดต่อจากคนสู่คนได้ ข้อมูล ณ วันที่ 27 กันยายน 2567 ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อ สหรัฐอเมริกา (CDC) รายงานพบผู้ป่วยไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ทั้งสิ้น 14 ราย จากการสัมผัสโคนม และสัตว์ปีก
ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร และองค์การอนามัยโลก ได้รายงานพบผู้ป่วยสายพันธุ์ H5N1 ที่ประเทศกัมพูชา สะสมทั้งหมด 7 ราย ล่าสุดเป็นเด็กหญิง อายุ 15 ปี และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2567 ปัจจุบัน ยังไม่มีรายงานผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ในประเทศไทย
ซึ่งประเทศไทยมีระบบเฝ้าระวังสถานการณ์โรคไข้หวัดนกทั้งในคน สัตว์ และสัตว์ป่า มีการประเมินความเสี่ยงภายใต้ความร่วมมือระหว่างกรมควบคุมโรค กรมปศุสัตว์ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตามแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health)
โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก ข้อมูล ณ วันที่ 3 ตุลาคม 2567 กระทรวงสาธารณสุขของสาธารณรัฐรวันดา ได้รายงานพบผู้ป่วย 38 ราย เสียชีวิต 11 ราย อัตราป่วยตาย ร้อยละ 28.9 ผู้สัมผัส 300 ราย อยู่ระหว่างติดตาม โรคมาร์บวร์กเป็นโรคที่ติดต่อจากการสัมผัสกับสัตว์ หรือคนที่ติดเชื้อ ระยะฟักตัวตั้งแต่ 2-21 วัน
ผู้ติดเชื้อจะมีอาการ ไข้สูงเฉียบพลัน อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ เจ็บคอ คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายเหลว และมีผื่นนูน ผู้ป่วยอาการรุนแรงอาจพบภาวะเลือดออกตามผิวหนังและอวัยวะต่างๆ เช่น เลือดออกในทางเดินอาหาร
ส่งผลให้เกิดภาวะช็อก และเสียชีวิตในช่วง 8-9 วันหลังเริ่มมีอาการ ขณะนี้ยังไม่มียารักษาและไม่มีวัคซีนป้องกันโรค ทำได้เพียงการรักษาแบบประคับประคอง ขณะนี้ยังไม่มีการประกาศห้ามการเดินทาง แต่เน้นมาตรการคัดกรองผู้เดินทางจากประเทศเสี่ยง หากผู้เดินทางกลับมาจากพื้นที่เสี่ยง และมีอาการสงสัย แนะนำให้ไปพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติการเดินทาง
สำหรับประเด็นสุขภาพอื่นๆ ที่ขอนำมาเน้นย้ำ ได้แก่ อันตรายจากบุหรี่ไฟฟ้า ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไป สูบบุหรี่ 9.9 ล้านคน สูบบุหรี่ไฟฟ้าประมาณ 80000 คน และการสุ่มสำรวจตามมาตรฐานของศูนย์ป้องกันควบคุมโรค สหรัฐอเมริกา
ปี 2565 พบเยาวชนไทย อายุ 13-15 ปี สูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงถึง ร้อยละ 17.6 ซึ่งเพิ่มจากปี 2558 ถึง 5 เท่า จากการตรวจสอบหาสารพิษในบุหรี่ไฟฟ้า พบว่ามีสารเสพติดรุนแรง และมีสารพิษหลายชนิดที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพทั้งผู้สูบและบุคคลรอบข้าง
ไม่ว่าจะเป็นอันตรายต่อพัฒนาการของสมองโดยเฉพาะเด็กและเยาวชน รวมถึงเสี่ยงต่อการเกิดโรคทางระบบทางเดินหายใจและปอด เช่น หลอดลมอักเสบ หายใจลำบาก ปอดอักเสบ รวมถึงโรคระบบหลอดเลือดและหัวใจก่อนวัยอันควร
ปัจจุบันประเทศไทยเป็น 1 ใน 34 ประเทศที่ห้ามนำเข้า จำหน่าย ผลิต และครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเด็ดขาด รวมถึงห้ามสูบบุหรี่ไฟฟ้าในสถานที่สาธารณะตามกฎหมาย พร้อมทั้งมีมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า ทั้งนี้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการป้องกันและดูแลเด็กและเยาวชนไทยให้ห่างไกลจากบุหรี่ไฟฟ้า
วันหลอดเลือดสมองโลก ตรงกับวันที่ 29 ตุลาคม ของทุกปี ในปีนี้มีการรณรงค์ภายใต้แนวคิด “กีฬาสร้างพลัง หยุดยั้งโรคหลอดเลือดสมอง” เป็นการสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชนออกกำลังกายเพื่อป้องกัน โรคหลอดเลือดสมอง สถานการณ์ทั่วโลกพบว่า 1 ใน 4 ของประชากร ป่วยด้วยโลกหลอดเลือดสมอง มีผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้นทุกๆ 3 วินาที
จนมีผู้ป่วยมากกว่า 12 ล้านคน และเสียชีวิต 6.5 ล้านคน สำหรับสถานการณ์ ในประเทศไทย จากสถิติสาธารณสุข ปี 2565 พบว่าโรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของคนไทย ในปี 2567 พบว่า ผู้ป่วยสะสมโรคหลอดเลือดสมอง มีจำนวน 358062 คน มีผู้เสียชีวิต 39086 คน
ทั้งนี้ ขอเน้นย้ำว่า โรคหลอดเลือดสมองสามารถป้องกันได้ 90% หากประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ดังนี้ 1.ควบคุมระดับความดันโลหิต ระดับน้ำตาล ระดับไขมันในเลือด ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ 2.ควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม 3.รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ลดหวาน มัน เค็ม 4.ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
5.ตรวจสุขภาพเป็นประจำ ผู้ที่มีโรคประจำตัว พบแพทย์สม่ำเสมอ 6.งดสูบบุหรี่ งดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และงดใช้สารเสพติดทุกชนิด 7.หลีกเลี่ยงความเครียด และพักผ่อนให้เพียงพอ กรมควบคุมโรคห่วงใย อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี