เยี่ยมชมความสำเร็จการรับรองคุณภาพมาตรฐาน ศูนย์บริการสาธารณสุข 68 สะพานสูง
สรพ. นำทีมสื่อมวลชน เยี่ยมชมความสำเร็จของการรับรองกระบวนการคุณภาพมาตรฐานศูนย์บริการสาธารณสุข (PHCA) ของศูนย์บริการสาธารณสุข 68 สะพานสูง กทม. ซึ่งได้พัฒนาคุณภาพการให้บริการอย่างต่อเนื่องจนสามารถต่ออายุการรับรองคุณภาพเป็นครั้งที่ 3
พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการ สรพ. พร้อมคณะผู้บริหาร และคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 68 สะพานสูง กรุงเทพมหานคร เพื่อเยี่ยมชมความสำเร็จของการรับรองกระบวนการคุณภาพมาตรฐานศูนย์บริการสาธารณสุข (Primary Health Care Accreditation : PHCA) ของศูนย์บริการสาธารณสุข 68 สะพานสูง
โดยมีแพทย์หญิงดวงพร ปิณจีเสคิกุล รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร และนางสุทธิ์สิริ ฟูนิลกุล ผู้อำนวยการศูนย์บริการสาธารณสุข 68 สะพานสูง ร่วมให้การต้อนรับและให้ข้อมูล
ปัจจุบัน สรพ. มีบทบาทหน้าที่ในการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพและให้การรับรองคุณภาพสถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนในประเทศไทย โดยมีการประเมินรับรองที่หลากลายรูปแบบ อาทิ การรับรองคุณภาพขั้นก้าวหน้า การรับรองเครือข่ายบริการสุขภาพระดับจังหวัด
การรับรองเฉพาะโรคเฉพาะระบบ การรับรองเครือข่ายระบบสุขภาพระดับอำเภอ และการรับรองมาตรฐานศูนย์บริการสาธารณสุข PHCA ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ใช้ในการพัฒนา และประเมินกระบวนการคุณภาพของหน่วยบริการสุขภาพ ประเภทที่ไม่ได้รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน
ซึ่งมีขอบเขตครอบคลุมทั้งด้านการบริหาร การรักษาพยาบาลแบบผสมผสาน การฟื้นฟูสภาพ รวมทั้งการส่งเสริมสุขภาพและควบคุมป้องกันโรค ที่ใช้ในการประเมินและรับรองคุรภาพมาตรฐานศูนย์บริการสาธารณสุขของกรุงเทพมหานคร (BMA Health Center)
สรพ. ขอชื่นชมและให้กำลังใจผู้บริหาร ทีมนำ และเจ้าหน้าที่บุคลากรของศูนย์บริการสาธารณสุข 68 ทุกท่าน ที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนระบบบริการสุขภาพของประเทศให้มีคุณภาพและมาตรฐานเพื่อความปลอดภัยของประชาชน
ขอบคุณทางสำนักอนามัย กรุงเทพมหานครแกนนำสำคัญในการสนับสนุนให้ผู้ปฏิบัติงานในศูนย์บริการสาธารณสุขทุกแห่งได้ดำเนินการพัฒนาคุณภาพมาอย่างต่อเนื่อง และให้การสนับสนุนการดำเนินการในการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานศูนย์บริการสาธารณสุข PHCA ร่วมกับ สรพ. มายาวนาน ตั้งแต่ปี 2555
จนถึงปัจจุบัน กทม.ได้มีการดำเนินงานในการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานศูนย์บริการสาธารณสุข ที่ช่วยสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชนชาวกรุงเทพมหานคร จนประสบความสำเร็จมาอย่างต่อเนื่องมีศูนย์บริการสาธารณสุขของกรุงเทพมหานครที่ได้รับการรับรองกระบวนการคุณภาพ ภายใต้มาตรฐาน มาตรฐานศูนย์บริการสาธารณสุข (Primary Health Care Accreditation : PHCA) จาก สรพ. จำนวน 22 แห่ง และอยู่ระหว่างรอประกาศจาก สรพ. จำนวน 4 แห่ง
ด้านแพทย์หญิงดวงพร ปิณจีเสคิกุล รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานครกล่าวว่า กทม.ได้มีการดำเนินงานในการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานศูนย์บริการสาธารณสุข ที่ช่วยสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชนชาวกรุงเทพมหานคร
จนประสบความสำเร็จมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร เห็นว่าการพัฒนาคุณภาพเป็นปัจจัยที่สำคัญในการพัฒนาองค์กร ซึ่งการพัฒนาคุณภาพศูนย์บริการสาธารณสุข เป็นการยกระดับมาตรฐานการบริการของศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง ทั่วเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครให้มีคุณภาพเทียบเคียงมาตรฐานสากล และการบริการที่มีประสิทธิภาพอย่างครบวงจร ส่งผลให้คนกรุงเทพมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี สร้างความเข้มแข็ง มั่นคง และยั่งยืนให้กับระบบสุขภาพ
ทั้งนี้ สำนักอนามัย มีนโยบายพัฒนาคุณภาพศูนย์บริการสาธารณสุข ให้ผ่านการรับรองคุณภาพมาตรฐานศูนย์บริการสาธารณสุขจากสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) โดยศูนย์บริการสาธารณสุขในแต่ละเขตโซนสุขภาพ (Bangkok Health Zone) ผ่านการรับรองคุณภาพมาตรฐาน อย่างน้อย 2 ใน 3 แห่ง
ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง ผ่านการรับรองฯ ภายในปี พ.ศ. 2570 เพื่อยกระดับมาตรฐานศูนย์บริการสาธารณสุขให้มีคุณภาพมาตรฐานสากล มีการบริการที่มีประสิทธิภาพ และปลอดภัยต่อประชาชน
ด้าน นางสุทธิ์สิริ ฟูนิลกุล ผู้อำนวยการศูนย์บริการสาธารณสุข 68 สะพานสูง กล่าวว่า ในส่วนของศูนย์บริการสาธารณสุข 68 เป็นศูนย์บริการสาธารณสุขระดับปฐมภูมิ สังกัดสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ที่ครอบคลุมทั้งด้านการบริหาร การรักษาพยาบาลแบบผสมผสาน การฟื้นฟูสภาพ รวมทั้งการส่งเสริมสุขภาพและควบคุมป้องกันโรค และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาบุคลากรทางการแพทย์
ตลอดจนเจ้าหน้าที่ทุกคนของศูนย์บริการสาธารณสุข 68 ได้ทุ่มเทพัฒนาระบบงานคุณภาพตามมาตรฐานศูนย์บริการสาธารณสุขมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 จนปัจจุบัน สามารถผ่านการประเมินและต่ออายุการรับรองกระบวนการคุณภาพมาตรฐานศูนย์บริการสาธารณสุขเป็นครั้งที่ 3
ทั้งนี้ ศูนย์บริการสาธารณสุข 68 สะพานสูง ดูแลรับผิดชอบสุขภาพของประชาชนในระดับปฐมภูมิในพื้นที่เขตสะพานสูง รวมจำนวนประชากร 94011 ราย จัดบริการครอบคลุมตั้งแต่การตรวจรักษาโรคทั่วไป โรคเรื้อรัง
คลินิกพิเศษอีกจำนวนมากที่ครอบคลุมและตอบสนองต่อความต้องการด้านสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ เช่น คลินิกทันตกรรม คลินิกสุขภาพเด็กดี คลินิกนมแม่ คลินิกฝากครรภ์ คลินิกวางแผนครอบครัว คลินิกส่งเสริมสุขภาพสตรี ตรวจคัดกรองมะเร็ง ปากมดลูก มะเร็งเต้านม ฯลฯ
นอกจากนี้ ยังมีการออกจัดบริการนอกหน่วยบริการ เช่น งานเยี่ยมบ้าน งานสาธารณสุขมูลฐาน งานอนามัยโรงเรียน การป้องกันโรคติดต่อ เยี่ยมฟื้นฟูสภาพผู้ป่วยเรื้อรังในชุมชน ทำกายภาพบำบัดผู้ป่วยเรื้อรังในชุมชน เป็นต้น