กรมบังคับคดี โชว์ผลสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนผู้รับบริการ สูงถึง 96%
กรมบังคับคดีเผยสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนผู้รับบริการที่มีต่อกระบวนการบังคับคดี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗ พบว่า มีคะแนนเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ ๙๖.๕๑ โดย นายเสกสรร สุขแสง อธิบดีกรมบังคับคดี ร่วมกับนางสาวบงกช นุตพงษ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส และคณะผู้วิจัย บริษัท ทริส คอร์ปอเรชั่น จำกัด แถลงผลการสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนผู้รับบริการที่มีต่อกระบวนการบังคับคดี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗
ผลจากการสำรวจพบว่า ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อกระบวนการบังคับคดีในระดับมากที่สุด โดยมีคะแนนความเชื่อมั่นเฉลี่ย ๔.๘๓ หรือคิดเป็นร้อยละ ๙๖.๕๑ ซึ่งสูงกว่าปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๖ ที่มีคะแนนเฉลี่ย ๔.๖๐
ที่ผ่านมา กรมบังคับคดีมีภารกิจหลักด้านการบังคับคดีแพ่ง คดีล้มละลาย การฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ การชำระบัญชี การวางทรัพย์และการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชั้นบังคับคดีภายหลังศาลมีคำพิพากษาเป็นกระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง โดยดำเนินการตามขั้นตอนและตามกฎหมายให้ความเป็นธรรม โปร่งใส และอำนวยความสะดวกแก่คู่ความทุกฝ่ายในคดี
รวมถึงประชาชนผู้รับบริการตามแผนปฏิบัติราชการ ระยะ ๕ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๖-๒๕๗๐) ของกรมบังคับคดี โดยขับเคลื่อนภารกิจกรมบังคับคดีภายใต้นโยบาย “Driving Towards Justice With LED 7Gs” บังคับคดีเชิงรุก สร้างสุขแก่ประชา นำพาความยุติธรรม” โดยมุ่งอำนวยความยุติธรรม ลดความเหลื่อมล้ำให้กับสังคม และประชาชน
ดังนั้น การนำความคิดเห็นจากผู้รับบริการ ผู้มีส่วนได้เสียนำมาพัฒนาปรับปรุงให้เกิดประสิทธิภาพประสิทธิผลของงานราชการและการบริการประชาชน ตลอดจนการสนับสนุนการปรับปรุงการให้บริการดียิ่งขึ้น โดยเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง
จึงได้มีการสำรวจการวิจัย โครงการสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนผู้รับบริการที่มีต่อกระบวนการบังคับคดี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗ โดยมอบหมายให้ บริษัท ทริส คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นผู้ดำเนินการตามโครงการนี้เพื่อให้การสำรวจมีความเป็นมาตรฐาน น่าเชื่อถือเป็นที่ยอมรับ ตลอดจนมีความเป็นกลาง ปราศจากอคติในการสำรวจจึงมีผู้ประเมินอิสระจากภายนอกเป็นผู้ดำเนินการโครงการฯ
นางสาวบงกช นุตพงษ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส และคณะผู้วิจัย บริษัท ทริส คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า การวิจัยสำรวจในครั้งนี้ เป็นการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับความเชื่อมั่นและความพึงพอใจของกระบวนการบังคับคดีให้ครอบคลุมใน ๖ กระบวนการ
ได้แก่ (๑) กระบวนการบังคับคดีแพ่ง (๒) กระบวนการบังคับคดีล้มละลาย (๓) กระบวนการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ (๔) กระบวนการไกล่เกลี่ข้อพิพาทชั้นบังคับคดี (๕) กระบวนการประมูลซื้อทรัพย์/การขายทอดตลาด และ (๖) กระบวนการวางทรัพย์ และสำรวจการรับรู้ การใช้และความพึงพอใจของเครื่องมือที่กรมบังคับคดีได้จัดทำขึ้น
โดยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนผู้รับบริการที่มีต่อกระบวนการบังคับคดี ประจำปีงบประมาณพ.ศ. ๒๕๖๗ จากกลุ่มประชากรเป้าหมายจำนวนทั้งสิ้น ๒๗๒๗ รายทั่วประเทศ การสำรวจครั้งนี้ ดำเนินการใช้วิธีการรวบรวมข้อมูล ๓ ลักษณะ คือ (๑) การสำรวจด้วยแบบสอบถาม (๒) การสัมภาษณ์เชิงลึก และ (๓) การจัดสนทนากลุ่ม
สรุปผลการสำรวจได้ดังนี้
๑. ความเชื่อมั่นของประชาชนผู้รับบริการต่อกระบวนการบังคับคดี โดยภาพรวม คิดเป็นร้อยละ ๙๖.๕๑
๒. ความพึงพอใจของประชาชนผู้รับบริการต่อกระบวนการบังคับคดี โดยภาพรวม คิดเป็นร้อยละ ๘๓.๕๓
ทั้งนี้ กรมบังคับคดีจะได้มีการสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนผู้รับบริการที่มีต่อกระบวนการบังคับคดีอย่างต่อเนื่องทุกๆปี เพื่อพัฒนาปรับปรุงการให้บริการ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความพึงพอใจให้กับประชาชนผู้รับบริการต่อไป