สกสว. เปิดเวทีชี้แจงงบประมาณด้าน ววน. ปี 2569 มุ่งขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรม

   เมื่อ : 05 ส.ค. 2567

ศาสตราจารย์ เกียรติคุณ ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) เปิดเผยว่า การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ พัฒนาเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในยุคปัจจุบัน จำเป็นต้องมีการลงทุนด้านการวิจัยและนวัตกรรม การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลก 

โดยเป้าหมายสำคัญที่สุดของ คณะกรรมการ กสว. คือ ทำให้สังคมเชื่อถือระบบวิจัย นักวิจัยเชื่อมั่นระบบขับเคลื่อนการวิจัย เกิดประโยชน์จากงานวิจัย กองทุน ววน. ใช้ทรัพยากรราว 1.9 หมื่นล้านบาท/ปี 

 

ใน 5 ปี นี้ กสว. ได้มองเห็นภาพการบริหารจัดการ การดูแลทิศทางงบประมาณของประเทศในภาพรวม ขับเคลื่อนอย่างมีทิศทางตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ มุ่งประโยชน์ทั้งในระยะสั้น กลาง และยาว ผสานการสร้างประโยชน์และเสริมสร้างความเข้มแข็ง มีความโปร่งใส อยู่บนพื้นฐานสร้างความเสมอภาค 

มุ่งให้ทุกภาคส่วนที่เป็นการลงทุนของระบบ ววน. ทั้งประชาชน ประเทศ อุตสาหกรรมได้ประโยชน์ และเห็นความสำเร็จของโครงการสำคัญของประเทศ เช่น การแก้ปัญหาสภาพแวดล้อม การสร้างความมั่นคงทางสุขภาพ การพัฒนาแหล่งรายได้ใหม่โดยการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การใช้ AI เพื่อเกษตรแม่นยำ การแพทย์ และยานยนต์สมัยใหม่ ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม อาทิ การจัดการฝุ่น PM2.5 การจัดการน้ำ 

ตลอดจนให้ความสำคัญกับการพัฒนากำลังคนที่เป็นความต้องการของอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้น เช่น Semiconductor AI และ EV และมุ่งสร้างการยอมรับให้กับ กองทุน ววน. ให้เป็นที่ประจักษ์ เข้าถึงและจับต้องได้ ด้วยการมีกลยุทธ์การสื่อสารที่ชัดเจน มีการสื่อสารแบบสองทางที่พร้อมตอบคำถามสำคัญ เป็นต้น

รองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า การประชุมชี้แจงเป้าหมายการสนับสนุนงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และแนวทางการจัดทำคำของบประมาณของหน่วยงานในระบบ ววน. ปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 นี้ เพื่อให้หน่วยงานในระบบ ววน. มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบ แผน แนวทางการจัดสรรงบประมาณ และมีข้อมูลพร้อมสำหรับเตรียมการจัดทำคำของบประมาณเพื่อสนับสนุนงานมูลฐานของหน่วยงาน

โดย กองทุน ววน. ได้เป็นตัวกลางในการขับเคลื่อนระบบ ววน. ของประเทศที่สอดคล้องนโยบายของภาครัฐในการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้เกิดความสมดุลและยั่งยืนใน 4 ยุทธศาสตร์ ตามแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ พ.ศ. 2566-2570 อันประกอบด้วย

1. การพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ให้มีความสามารถในการแข่งขัน และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ได้แก่ การพัฒนาและผลิตผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง (Advanced Therapy Medicinal Products; ATMPs) การพัฒนาและยกระดับการท่องเที่ยวโดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่เน้นคุณค่า 

 

สร้างความยั่งยืน และเพิ่มรายได้ของประเทศ พัฒนาและส่งเสริมให้ประเทศเพิ่มธุรกิจฐานนวัตกรรม (Innovation-Driven Enterprises; IDEs) การเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกชั้นนำของโลกด้าน Functional Ingredients Functional Food และ Novel Food การเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของอาเซียน

 

2. การยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อมให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน เช่น การเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก เพื่อการพึ่งพาตนเองและกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ประเทศไทยสามารถยกระดับการเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ การพัฒนาผู้สูงอายุในชนบทและเมืองให้มีศักยภาพในการพึ่งพาตนเอง มีคุณค่าและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สังคม

3. การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมระดับขั้นแนวหน้าที่ก้าวหน้าล้ำยุค เพื่อสร้างโอกาสใหม่และความพร้อมของประเทศในอนาคต ได้แก่ การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีระบบโลกและอวกาศ (Earth Space Technology) โดยสามารถสร้างดาวเทียมที่วิจัยและพัฒนาโดยคนไทยและส่งไปโคจรรอบดวงจันทร์ และ

4. การพัฒนากำลังคน สถาบันอุดมศึกษา และสถาบันวิจัยให้เป็นฐานการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศแบบก้าวกระโดดและอย่างยั่งยืน ได้แก่ ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของกำลังคนระดับสูง (Hub of Talent) และศูนย์กลางการเรียนรู้ (Hub of Knowledge) ของอาเซียน

ทั้งนี้ สกสว. ตั้งเป้าที่จะขับเคลื่อนให้เกิดระบบนิเวศการวิจัยและนวัตกรรมที่เข้มแข็ง ส่งเสริมการผลักดันให้เกิดการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยคาดการณ์ผลจากการลงทุนงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมของประเทศเฉลี่ย 5 เท่าของงบประมาณลงทุน 

นอกจากการนี้ สกสว. ยังได้เตรียมดำเนินการที่สอดคล้องกับโจทย์และความต้องการของประเทศ ใน 7 เรื่องสำคัญ คือ 1.การศึกษาแนวทางในการจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุนในสตาร์ทอัพ ผ่านการร่วมทุนกับนักลงทุนมืออาชีพ เพื่อสร้างผู้ประกอบการใหม่ที่มีสินค้าและบริการจากงานวิจัย

 

 2.การพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจร่วมกับสภาพัฒน์ด้วยแนวทางเอกชนนำ รัฐสนับสนุน เพื่อให้เกิดการลงทุนและยกระดับกำลังคนให้มีทักษะสูง 

3.การแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 แบบครบวงจร นำร่องในพื้นที่ภาคเหนือ 4.การนำงานวิจัยมายกระดับภาคการเกษตร เพื่อลดต้นทุนและสร้างรายได้สู่การเกษตรมูลค่าสูง 5. แผนการลงทุนด้าน ววน. ในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และดิจิทัล AI 

6. การเปิดใช้งาน open data ของกองทุน ววน. ให้กับสาธารณะ เพื่อใช้ในการหาข้อมูลงานวิจัย เทคโนโลยีที่พร้อมใช้ และโครงการพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ที่พร้อมให้บริการในแต่ละพื้นที่ 

 

 7. การเร่งวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสีเขียว เทคโนโลยีกักเก็บก๊าซเรือนกระจกรวมถึงการนำไปใช้เพื่อสนับสนุนเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศ รองศาสตราจารย์ ดร. ปัทมาวดี กล่าวปิดท้าย