เยี่ยมชม ศูนย์ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล: HACC “อุบลมุกศรีโสธรเจริญ

   เมื่อ : 23 ก.ค. 2567

พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) กล่าวว่า ศูนย์ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล (Hospital Accreditation Collaborating Center: HACC) โดย สรพ.มีบทบาทหน้าที่ในการกระตุ้นสร้างความร่วมมือกับหน่วยงาน องค์กรในรูปแบบต่างๆ ทุกภาคส่วน ให้มาร่วมในการจัดตั้งศูนย์ฯเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล/สถานพยาบาลในทุกระดับโดยใช้ความรู้เป็นกลไกของการพัฒนาผ่านกระบวนการการแลกเปลี่ยน


หลักการแรกของศูนย์ความร่วมมือฯ หรือ HACC คือการทำให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่โดยมีกระบวนการสร้างคน/บุคลากรในพื้นที่โดยเฉพาะเครือข่ายในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งยังมีช่องว่างของการเข้าถึงองค์ความรู้/แนวทางการพัฒนา ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาคุณภาพฯ 

 

รวมทั้งมีเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลปัญหาจากส่วนกลาง รวมถึงสะท้อนปัญหาที่เกิดจากระบบบริการ เพื่อทำให้พื้นที่ได้เรียนรู้ประเด็นในการแก้ไขปัญหาให้เกิดการกระจายองค์ความรู้ได้อย่างทั่วถึง เครือข่ายในพื้นที่หรือส่วนภูมิภาค 

 

จึงมีส่วนสำคัญที่สามารถเข้ามาลดช่องว่าง ปัจจุบันมีเครือข่าย HACC แล้วจำนวน 7 เขตบริการสุขภาพ โดยเขตบริการสุขภาพที่ 10 ประกอบด้วย 5 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ และมุกดาหาร เป็น 1 ในพื้นที่ตัวอย่างที่มีศักยภาพในการให้บริการสุขภาพแก่ประชาชน เน้นคุณภาพที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ ไม่เน้นเฉพาะการรักษาแต่เพื่อประชาชนได้รับประโยชน์ในทุกมิติ 

ทั้งการส่งเสริม ป้องกัน รักษา ฟื้นฟู และคุ้มครองผู้บริโภค โดยได้สร้างเครือข่ายพัฒนาแกนนำ เครือข่าย ร่วมมือกับประชาชนในกลุ่มเครือข่ายผู้บริโภค การทำงานเครือข่ายที่เกิดผลลัพธ์การดูแลรักษาที่ดีในกลุ่มโรคสำคัญ สามารถสร้างเครือข่ายได้ครอบคลุมในภูมิภาคอีสานตอนล่างโดยใช้ความร่วมมือมากกว่าการกำกับการทำงาน

นายแพทย์มนต์ชัย วิวัฒนาสิทธิพงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาล อุบลมุกศรีโสธรเจริญฯ (ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ) กล่าวว่า ศูนย์ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาล เขตสุขภาพที่ 10 อุบลมุกศรีโสธรเจริญ เป็นแผนงานโครงการที่สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. ต้องการให้เกิดการกระจายเครือข่ายบริการสุขภาพครอบคลุมทุกเขตบริการสุขภาพทั่วประเทศไทยให้ได้รับการพัฒนาคุณภาพเสริมสร้างศักยภาพและเพิ่มประสิทธิภาพประสิทธิผลในการบริการสุขภาพแก่ประชาชน 

การจัดตั้งศูนย์ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาลเขตสุขภาพที่ 10 อุบลมุกศรีโสธรเจริญ ครั้งนี้ เกิดจากความร่วมมือในเชิงการให้บริการที่มุ่งเน้นไปที่คุณภาพ ซึ่งใน 5 จังหวัดดังกล่าวนี้เรามีฐานของสถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน จำนวน 86 แห่ง ในจำนวนนี้ได้ผ่านการรับรองแล้วกว่า 90 เปอร์เซ็นต์        

 

สิ่งสำคัญคือเราจะทำให้เกิดความมั่นใจในระบบร่วมกันได้อย่างไร เพราะผู้รับบริการมีโอกาสเคลื่อนย้ายไปตามที่ต่างๆ อาจไม่เหมือนกับการบริการในภาครัฐอื่นๆที่จบภายในอำเภอหรือจังหวัด แต่การบริการทางสาธารณสุขอาจมีการเคลื่อนย้าย ดังนั้นไม่ว่าต้นน้ำหรือปลายน้ำเป็นอย่างไรล้วนมีความสำคัญเหมือนกันหมด 

โดยต้องเอาคุณภาพมาเป็นมาตรฐาน ซึ่งการไปให้ถึงคุณภาพประกอบด้วยสิ่งสำคัญคือ การเข้าถึงกลุ่มโรคต่างๆ หรือกลุ่มภาวะผิดปกติต่างๆที่เกิดในพื้นที่ เราได้รับความร่วมมือ โดยเฉพาะงานมาตรฐานที่มาจาก สรพ.กลาง บางอย่างที่ตกผลึกแนวคิดเรียบร้อยแล้วเราก็สามารถรับการถ่ายทอดได้เลยโดยนำมาปรับและประยุกต์ให้เข้ากับพื้นที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน 

อีกประเด็นคือจากพื้นที่เองอาจมีไม่เหมือนที่อื่น เรามีองค์ความรู้สะสมซึ่งได้ถอดบทเรียนออกมาผ่านกระบวนการการทำงานหน้างานหรืองานวิจัย สามารถนำองค์ความรู้นี้ไปสู่กลไกของ สรพ. และสรพ.เป็นตัวจิ๊กซอว์ถ่ายทอดให้อีกต่อหนึ่ง ซึ่งบทบาทที่เราถอดบทเรียนมาสรุปได้ว่า 

 

1. เราเน้นเรื่องคุณภาพที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ 2. การพัฒนาคนในพื้นที่ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก  3. การดำรงไว้ซึ่งคุณภาพที่ต่อเนื่องและยั่งยืน  ซึ่งสุดท้ายเมื่อมีคุณภาพเกิดขึ้นแล้ว ประชาชนจะได้รับประโยชน์ไม่เน้นเฉพาะแค่การรักษาแต่ประชาชนจะได้รับประโยชน์ในทุกมิติทั้งการส่งเสริม ป้องกัน รักษา ฟื้นฟู และคุ้มครองผู้บริโภค 

ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่สุด เพราะคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ การบริหารจัดการในตอนนี้เกิดความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมแล้วและเมื่อได้รับการสนับสนุนด้วยกลไกที่ดีที่สุดคืองานคุณภาพที่เกิดขึ้นแล้วในทุกพื้นที่ของประเทศไทย 

นางนาฏอนงค์ เสนาพรม หัวหน้าห้องผู้ป่วยหนักโรคหัวใจและหลอดเลือดกล่าวว่าโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ อุบลราชธานีมีความยินดีที่ได้เข้าร่วมโครงการนี้เนื่องจากคนไข้โรคหัวในเขตนี้มีจำนวนมากจึงต้องการพัฒนาการรักษาให้มีประสิทธิภาพทั้งการจัดการปัญหาและความเสี่ยงต่างๆ เพราะในพื้นที่ทางโรงพยาบาลจะเป็นพี่เลี้ยงใหญ่ดูแลคนไข้ในเครือข่าย 5 จังหวัด 

การทำงานเป็นเครือข่ายช่วยให้เราคุยกันบ่อยขึ้นจะมีระบบการติดตามการให้ข้อมูลความรู้ เวลาเกิดปัญหาเราจะมีการปรึกษามายังแม่ข่าย พอเราได้รับคำปรึกษา ได้รับคำแนะนำในการช่วยเหลือ เราจะมีการพัฒนางานร่วมกัน 

ปัญหานี้จะแก้ด้วยระบบหรือด้วยคน ถ้ามีปัญหาที่ตัวคนก็จะพัฒนาที่ตัวคน ถ้าเป็นปัญหาที่ระบบก็ต้องแก้ที่ระบบ ก็จะสามารถแก้ปัญหาได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เกิดประโยชน์กับเครือข่ายทั้ง 5 จังหวัด คนไข้ได้รับการดูแลที่มีประสิทธิภาพและมีคุณภาพมากขึ้น ช่วยให้ตัวชี้วัดเราดีขึ้นในการดูแลคนไข้โรคหัวใจลดอัตราการเสียชีวิตได้ดีขึ้นไม่เกินเกณฑ์เป้าหมาย