เปิดตัว แอปพลิเคชัน “โรคประจำตัวของฉัน” นวัตกรรมใหม่แก้ปัญหาของรพ.ค่ายนวมินทราชินี

   เมื่อ : 11 ก.ค. 2567

พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. กล่าวว่า โครงการ 2P Safety Tech เป็นความร่วมมือระหว่าง สรพ. และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุขตามเป้าหมายความปลอดภัย Patient and Personnel Safety Goal (SIMPLE)2 ภายใต้หลักคิดว่ามนุษย์ทุกคนมีโอกาสเกิดข้อผิดพลาดได้ 

ดังนั้นเพื่อลดความผิดพลาดจากมนุษย์ จึงต้องนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วย โดยนำ pain point ของโรงพยาบาล มาจับคู่กับนวัตกรของ สวทช. เพื่อออกแบบพัฒนาระบบหรือนวัตกรรมเข้ามาช่วยลดข้อผิดพลาดในกระบวนการทำงานตามบริบทของโรงพยาบาลนั้นๆ 

 สรพ. ทำหน้าที่กําหนดมาตรฐานและการรับรองคุณภาพ ในการให้บริการของสถานพยาบาล เพื่อเป็นหลักประกันให้ประชาชนได้รับการบริการด้านสาธารณสุขที่มีคุณภาพมาตรฐาน บทบาทของ สรพ.ไม่ได้มีแค่การประเมินต่างๆ แต่เรายัง ประสานความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับมาตรฐานและคุณภาพในการให้บริการของสถานพยาบาลเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการด้านสาธารณสุขที่ดีและมีคุณภาพ 

สรพ.จึงทำความร่วมมือกับ สวทช. พัฒนานวัตกรรมเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุข ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการ 2P Safety Tech ที่ทำมาตั้งแต่ พ.ศ. 2562 กรณีของรพ.ค่ายนวมินทราชินีซึ่งได้นำเอาปัญหาของโรงพยาบาลมาเป็นโจทย์เพื่อให้ นวัตกรพัฒนานวัตกรรม ใช้ประโยชน์จากการวิเคราะห์ข้อมูล ร่วมมือกับผู้นำซึ่งเป็นแพทย์และพยาบาลช่วยกันสร้างทีมวิเคราะห์ร่วมต่อจิ๊กซอว์และพัฒนา 

จนในที่สุดก็ได้แอปพลิเคชัน “โรคประจำตัวของฉัน” ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่สามารถตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาของโรงพยาบาลที่สามารถค้นหาและทำการวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้อง ช่วยลดภาระงานให้กับเจ้าหน้าที่ ทำให้ผู้รับบริการได้เข้ารับการตรวจรักษาได้เร็วขึ้น ประชาชนและผู้ป่วยปลอดภัย

นายศรันย์ ยิ้มแย้มนวัตกร ผู้ร่วมพัฒนา “แอปพลิเคชันโรคประจำตัวของฉัน” เล่าว่าเมื่อ 4 ปีที่แล้วได้มีโอกาสเข้าร่วมการอบรมกับทางสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.)และได้เข้าร่วมการอบรมในโครงการ 2P safety tech  ได้ร่วมกันคิดวิเคราะห์ว่ามีปัญหาที่ยังเป็นช่องว่างหรือจุดด้อยที่พบในรพ.ค่ายนวมินทราชินีอย่างไรบ้าง

 

 จากนั้นร่วมกันคิด ร่วมกันออกแบบนวัตกรรมที่ใช้จริงในสถานพยาบาล จนเกิดเป็น “แอปพลิเคชันโรคประจำตัวของฉัน” โดยเริ่มจากค่อยๆพัฒนาต้นแบบ (Prototype) ออกแบบระบบ หน้าจอ การนำข้อมูลเข้าสู่ระบบ วิธีการคำณวน เพื่อให้การแปรผลที่ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ประหยัดทั้งเวลา กำลังพลและงบประมาณ แล้วทดลองใช้ร่วมกับโรงพยาบาล 

 

จนได้ผลลัพธ์ที่ได้มาตรฐานหลังจากได้ทดลองใช้จริงกับผู้ป่วยพบว่า เป็นผลงานที่มีคุณค่า มีประโยชน์ ในส่วนของผู้ป่วย คือ ช่วยในการบอกสถานะสุขภาพ ที่กระตุ้นเตือนแนะนำให้ผู้ป่วยตระหนักว่า เมื่อป่วยจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร 

 

 ขณะที่โรงพยาบาล/บุคลากรทางการแพทย์ประโยชน์ที่ได้ คือช่วยลดเวลาการทำงาน(ตรวจคัดกรอง)ของเจ้าหน้าที่ ลดขั้นตอนการตรวจประเมิน สามารถรายงานผลได้รวดเร็วขึ้น ลดค่าใช้จ่ายจากการพิมพ์รายงานผลในรูปแบบกระดาษ  ในอนาคตอาจพัฒนาทำเป็นใบส่งตัวหรือใบนัดหมายของแพทย์แบบออนไลน์ง่ายๆในมือถือได้ 

ด้าน จ่าสิบเอกหญิงรัตนประภา ชาติวงษ์  หนึ่งในผู้ใช้บริการตรวจสุขภาพจากรพ.ค่ายนวมินทราชินีจ.ชลบุรีกล่าวว่าเนื่องจากตัวเองผู้ป่วยโรคเบาหวาน/ความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นกลุ่มโรคที่จำเป็นต้องได้รับการติดตามจากแพทย์อย่างสม่ำเสมอ 

หลังจากโหลดแอปพลิเคชัน “โรคประจำตัวของฉัน” มาใช้ การประเมินผลทำได้รวดเร็วกว่าแต่ก่อนมาก พบว่าตนเองอยู่ในกลุ่มสีส้ม ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพที่ต้องเข้ารับการวินิจฉัยโรค อีกทั้งยังอยู่ในกลุ่มที่มีปัญหาน้ำหนักตัวเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 

จึงตัดสินใจเข้าร่วมโปรแกรม Fit-Sloth ตามคำแนะนำของแพทย์เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ได้แก่ การเลือกรับประทานอาหาร การควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย การนอนหลับพักผ่อน รวมทั้งการจัดการความเครียด เข้าร่วมโปรแกรมมาแล้ว 17 วัน น้ำหนักตัวลดลง 2 กิโลกรัม 

 ส.อ.วุฒิตรี สีแก้วน้ำใส กล่าวว่า ข้อดีของแอปพลิเคชัน “โรคประจำตัวของฉัน”ที่นำมาใช้ในการตรวจสุขภาพประจำปี ช่วยลดการพิมพ์ผลการตรวจสุขภาพที่เป็นกระดาษ ที่ส่วนใหญ่มักจะสูญหายหรือฉีกขาดได้ การใช้แอปพลิเคชันสามารถดูผลสุขภาพย้อนหลังได้เพราะมีการเก็บบันทึกไว้ เพื่อนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์สำหรับการดูแลสุขภาพ กรณีไปปฏิบัติราชการต่างจังหวัดต้องเข้ารับบริการทางการแพทย์นอกโรงพยาบาลประจำ ก็สามารถแสดงข้อมูลบน smartphone ประกอบได้ 

เพราะเสมือนมีข้อมูลสุขภาพตนเองติดตัวตลอด สำหรับผลการตรวจประเมินสุขภาพของตนเองพบว่าอยู่ในกลุ่มสีเหลือง มีความดันสูงกว่าค่าความดันโลหิต หรือมากกว่า 120-129 มม.ปรอท ทำให้ต้องดูแลสุขภาพของตนเองให้มากขึ้น เช่น การพักผ่อน การออกกำลังกายที่เหมาะสม 

ส.อ.รัฐพงษ์ จันทร์มูล กล่าวว่า ผลการตรวจประเมินสุขภาพของตนเองผ่านแอปพลิเคชัน“โรคประจำตัวของฉัน” พบว่าอยู่ในเกณฑ์สีเหลือง มีค่าความดันสูง 128 มม.ปรอท ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง จึงเคร่งครัดในเรื่องการดูแลสุขภาพตามคำแนะนำของแพทย์  เรื่อง การออกกำลังกาย การกิน การลดการสูบบุหรี่ 

 

ประกอบกับมีการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเฝ้าระวังปัญหาที่อาจจะเกินขึ้นตามมาได้ มองว่าแอปพลิเคชัน“โรคประจำตัวของฉัน”มีประโยชน์มากช่วยให้ทราบผลตรวจสุขภาพได้รวดเร็วขึ้น กว่าเดิมเพิ่มโอกาสในการดูแลรักษาสุขภาพได้ไวขึ้นด้วย