วิธีรับมือและป้องกันโรคและภัยสุขภาพช่วงเปิดเทอม
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แพทย์หญิงจุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ผู้ช่วยอธิบดีกรมควบคุมโรค และนายแพทย์วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค ร่วมดำเนินการแถลงข่าวในหัวข้อ “รับมืออย่างไร โรคและภัยสุขภาพช่วงเปิดเทอม” พร้อมแนะนำประชาชน รวมถึงผู้ปกครองและคุณครู ถึงวิธีการรับมือโรคและภัยสุขภาพช่วงเปิดเทอม
ไข้หวัดใหญ่ มักเกิดการระบาดในช่วงฤดูฝน ประกอบกับเป็นช่วงใกล้เปิดเทอม จึงขอเน้นย้ำให้ประชาชนดูแลตนเองและบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด ตั้งแต่ต้นปีพบผู้ป่วย จำนวน 144574 ราย ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กเล็กและกลุ่มวัยเรียน ได้แก่ อายุแรกเกิด - 4 ปี (15%) และอายุ 10-14 ปี (14%)
แนะนำประชาชนกลุ่มเสี่ยงฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ปีละ 1 ครั้งช่วงก่อนฤดูกาลระบาด ได้แก่ 1.หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป (ให้บริการตลอดทั้งปี) 2.เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี 3.ผู้มีโรคเรื้อรัง เช่น ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ เป็นต้น 4.ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป 5.ผู้ที่เป็นโรคธาลัสซีเมีย และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง 6.โรคอ้วน และ 7.ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ กลุ่มเสี่ยงดังกล่าว สามารถติดต่อเข้ารับวัคซีนได้ฟรีที่สถานพยาบาลของรัฐใกล้บ้าน
โควิด 19 ขอเน้นย้ำผู้ปกครองดูแลบุตรหลาน ดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (วันที่ 5 - 11 พฤษภาคม 2567) พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด 19 ที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลจำนวน 1880 ราย เฉลี่ย 269 รายต่อวัน ผู้ป่วยอาการรุนแรงปอดอักเสบ 588 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 237 ราย เสียชีวิต 11 ราย ผู้เสียชีวิตทุกรายเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และมีโรคเรื้อรัง
ดังนั้นนอกจากดูแลบุตรหลานแล้ว ขอเน้นย้ำประชาชนรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด หากไปในสถานที่ปิดหรือแออัด ควรสวมหน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 ถ้าจำเป็นต้องเข้าไปในพื้นที่ที่มีคนหมู่มาก ควรสวมหน้ากากอนามัยเสมอ และล้างมือบ่อยๆ หากป่วยให้รีบไปพบแพทย์
ไข้เลือดออก เป็นโรคที่มีการระบาดทุกปีในช่วงฤดูฝน ตั้งแต่ต้นปีพบผู้ป่วย 27334 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็ก 5-14 ปี จำนวน 8033 ราย ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กนักเรียน และจากผลการสำรวจแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย
พบสูงสุดในกลุ่มโรงเรียนและโรงธรรม จึงขอให้ทุกสถานศึกษาเร่งสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำทุกสัปดาห์ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่ระบาด สำหรับผู้เสียชีวิต 31 ราย พบเป็น เด็ก 11 ราย ผู้ใหญ่ 20 ราย แนะนำ หากมีอาการไข้สูง ยาลดไข้ที่ปลอดภัยคือพาราเซตามอลในขนาดที่เหมาะสม และหากไข้ไม่ลดใน 1-2 วัน ควรรีบไปพบแพทย์
สำหรับโรคอื่นๆ ที่มักพบมีการระบาดได้ช่วงเปิดเทอม ได้แก่ 1) โรคมือ เท้า ปาก ติดต่อจากการได้รับเชื้อไวรัสเข้าทางปาก โดยเชื้อติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย ของผู้ป่วย หรือติดต่อจากการไอ จาม รดกัน ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กเล็ก จะมีอาการไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย ตุ่มแผลในปาก ทานไม่ได้ ร่วมกับอาจมีตุ่มพองเล็กๆ บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า
หากอาการรุนแรงมีไข้ขึ้นสูง ซึมลง ชักเกร็ง หายใจหอบเหนื่อย อาเจียนมาก ต้องรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว ขอเน้นย้ำผู้ปกครองและครูช่วยกันดูแลสังเกตอาการเบื้องต้นของเด็ก หากมีอาการให้รีบพบแพทย์ หยุดเรียนจนกว่าจะหายตามดุลยพินิจของแพทย์ 2) ท้องร่วงเฉียบพลัน จากการติดเชื้อ
ส่วนใหญ่มักเกิดจากเชื้อไวรัส และแบคทีเรีย เกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัยโดยเฉพาะในเด็กวัยเรียน พบการระบาดได้ตลอดทั้งปี พื้นที่ที่มีคนอาศัยอยู่รวมกัน เช่น โรงเรียน สถานที่ท่องเที่ยว จะเกิดการระบาดได้ง่าย
ผู้ป่วยจะมีอาการถ่ายเหลว ถ่ายเป็นน้ำ อาเจียน ปวดท้อง บางรายอาจมีไข้ น้ำมูกไหล หรือไอร่วมด้วย การป้องกัน ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” รับประทานอาหารปรุง สุก ใหม่ อาหารที่เก็บไว้นานเกิน 2 ชม. ต้องนำมาอุ่นร้อนให้ทั่วถึงก่อนกิน ขวดนม จุกนม ต้องล้างทำความสะอาดหลังการใช้ทันทีและฆ่าเชื้อโดยการต้มจนเดือดอย่างน้อย 10-15 นาที สอนให้เด็กล้างมือด้วยสบู่และน้ำให้สะอาดทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ำ
โดยเฉพาะทุกครั้งก่อนหยิบจับอาหาร นักเรียนป่วยควรหยุดเรียน ผู้ใหญ่ควรหยุดงานและงดการปรุงประกอบอาหารจนกว่าจะหาย 3) โรคติดต่อในกลุ่มที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน เช่น หัด ไอกรน เป็นต้น ที่แพร่ระบาดทางระบบทางเดินหายใจ ขอให้ผู้ปกครองเช็กประวัติวัคซีน หากเด็กได้รับวัคซีนไม่ครบตามกำหนดวัย ควรเข้ารับวัคซีนที่สถานพยาบาลใกล้บ้านให้ครบ
ซึ่งในช่วงเปิดเทอมนี้ แนะนำให้ทั้งนักเรียนและบุคลากรในโรงเรียนทุกคน รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล สวมใส่หน้ากากอนามัยในสถานที่ปิด (เช่นห้องที่ใช้เครื่องปรับอากาศ) และล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจ หรือที่มีไข้ออกผื่น หากป่วย ควรหยุดพักและรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง
นอกจากโรคที่ต้องป้องกันในช่วงเปิดเทอม เดือนพฤษภาคมนี้ ยังมีวันสำคัญที่เน้นย้ำการร่วมมือร่วมใจแก้ไขปัญหาสุขภาพที่สำคัญ ได้แก่ วันที่ 17 พฤษภาคม ที่จะถึงเป็นวันความดันโลหิตสูง ซึ่งปีนี้ให้ประเด็นรณรงค์ “วัดความดันอย่างไร สูงเกินไปคุมให้ดี ช่วยยืดชีวีให้ยืนยาว”
โดยสถานการณ์ประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงมากถึง 14 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 25.4 (1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด) ขึ้นทะเบียนรักษาเพียง 7 ล้านคน และผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาแต่ไม่สามารถควบคุมระดับความดันโลหิตได้มากถึง 2.8 ล้านคน ซึ่งอาจนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพอื่นตามมา เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ เป็นต้น
ส่วนในวันที่ 31 พฤษภาคม เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก ประเด็นการรณรงค์ปีนี้คือ “บุหรี่ไฟฟ้าหยุดโกหกได้แล้ว” เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า ให้ประชาชนทุกเพศและทุกวัยได้รับรู้ เข้าใจ และไม่ริลองใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกรูปแบบ
ข้อมูลจาก : กรมควบคุมโรค