หมอชลน่าน & สสส. ดัน “น่านโมเดล” 1 ใน 10 เมืองต้นแบบสุขภาพ มีอารยสถาปัตย์ รองรับผู้สูงวัย คนพิการ ตามแนวคิด Universal Design : UD

   เมื่อ : 01 มี.ค. 2567

ลานข่วงเมืองน่าน วัดภูมินทร์ จ.น่าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงาน ทัวร์อารยสถาปัตย์ แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมจังหวัดน่าน “เปิดเมืองอารยสถาปัตย์ เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพื่อคนทั้งมวล จังหวัดน่าน” พร้อมด้วย นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นายกฤษณะ ละไล ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล จังหวัดน่าน 

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เทศบาลเมืองน่าน องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) และภาคีเครือข่าย เพื่อเดินหน้าสนับสนุน “น่านโมเดล” เมืองต้นแบบสุขภาพ ที่มีอารยสถาปัตย์ มีสภาพแวดล้อม และสิ่งอำนวยความสะดวก รองรับ  ผู้สูงวัย คนพิการ ตามแนวคิดการออกแบบเพื่อทุกคน หรือ Universal Design (UD)  

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ ด้วยจำนวนผู้สูงอายุกว่า 13 ล้านคน คิดเป็น 20 %ของประชากรไทย และมีคนพิการมากกว่า 2.1 ล้านคน คิดเป็น 3% ของประชากรไทย กิจกรรมเปิดเมืองอารยสถาปัตย์ เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพื่อคนทั้งมวล จังหวัดน่าน

 

 ถือเป็นโครงการที่ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข ในการส่งเสริมการจัดบริการสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub and Wellness) และระบบโลจิสติก เพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นเลิศในผลิตภัณฑ์ และการบริการด้านสุขภาพการรักษาพยาบาลในภูมิภาคเอเชีย 

โดย มีเป้าหมาย 4 ด้าน 1.ขับเคลื่อนเมืองสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) 2.ธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Health & Wellness Tourism) 3.การท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล (Tourism for All) ของจังหวัดน่าน 4.ส่งเสริมสิทธิความเสมอภาคเท่าเทียมของคนพิการรองรับสังคมผู้สูงวัย (Aging Society)

ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561-2580 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันด้วยการสร้างความหลากหลายด้านการท่องเที่ยว เพราะนักท่องเที่ยวในกลุ่มเป้าหมายนี้ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้พักฟื้นสุขภาพ กลุ่มผู้ป่วย กลุ่มคนพิการ และกลุ่มที่ต้องการได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เช่น สตรีมีครรภ์ เด็กเล็กต้องใช้รถเข็น 

ดังนั้นการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จึงจำเป็นต้องพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกที่สามารถรองรับกลุ่มคนพิเศษเหล่านี้ด้วยแนวคิดการออกแบบเพื่อทุกคน หรือ UD  จึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นที่จะต้องทำอย่างเร่งด่วน เพื่ออำนวยความสะดวก และเพื่อความปลอดภัยของคนกลุ่มนี้

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า จากสถานการณ์ประชากรผู้สูงอายุไทยในปี 2565 มีผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 12.69 ล้านคน คิดเป็น 19.21% ถือเป็นการเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ ผู้สูงอายุจำนวนมากมีบ้านที่มีสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม และไม่ปลอดภัยต่อการดำเนินชีวิต 

จากข้อมูลปี 2564 มีผู้สูงอายุ 853390 คน ระบุว่าเคยหกล้มในบริเวณบ้าพักมากที่สุด ผู้สูงอายุ 216078 คน ที่เคยหกล้มภายในตัวบ้าน เป็นการหกล้มในห้องน้ำมากที่สุด รองลงมาคือ ห้องนอน ระเบียงบ้าน และบันได ตามลำดับ ขณะที่ข้อมูลคนพิการ ปี 2566 มีคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการทั่วประเทศ 2.18 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นคนพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย 

ทั้งผู้สูงอายุและคนพิการ ถือเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางในการดำเนินชีวิต จากความเสื่อมถอยของร่างกายตามวัยของผู้สูงอายุ และข้อจำกัดในการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งการเดินทางผ่านระบบขนส่งสาธารณะ และการเข้าถึงสถานที่สาธารณะ

ปัจจุบัน สสส. สนับสนุนให้ผู้สูงอายุและคนพิการได้ออกมาใช้ชีวิตในพื้นที่ต่างๆ อย่างมีอิสระ สะดวก และปลอดภัย โดยร่วมกับภาคีเครือข่าย สนับสนุนองค์ความรู้เรื่องการออกแบบเพื่อทุกคน ปรับปรุง พัฒนา อาคาร สถานที่ ให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุ คนพิการและคนทั้งมวล ทั้งในหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และธุรกิจท่องเที่ยว ทั้งแหล่งท่องเที่ยว โรงแรมต่างๆ เกิดเป็นพื้นที่ต้นแบบการท่องเที่ยวอารยสถาปัตย์ใน 10 จังหวัด 

ซึ่ง จ.น่าน เป็น 1 ใน 10 พื้นที่ต้นแบบที่ได้ขับเคลื่อนและพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกตามแนวคิด UDในสถานที่สาธารณะ และแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เช่น ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว วัดภูมินทร์ และวัดสวนตาลซึ่งมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวทั้งมวลได้

นายกฤษณะ ละไล ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล กล่าวว่า ปี 2566 จ.น่าน มีนักท่องเที่ยว 1570213 คน แบ่งเป็น คนไทย 1554216  คน ชาวต่างชาติ 15997 คน  สร้างรายได้ 4415 ล้านบาทโดยเริ่ม Kick off ที่วัดภูมินทร์ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพื่อคนทั้งมวล เพราะเป็นสถานที่สำคัญที่อยู่คู่เมืองมามากกว่า 400 ปี นำแนวคิดอารยสถาปัตย์ ปรับบริเวณจุดทางลาดให้ถูกต้องหรือแพลตฟอร์มลิฟต์ 

สำหรับขึ้นวิหาร ชมจิตรกรรมปู่ม่านย่าม่าน ปรับปรุงทางลาดบริเวณฟุตบาทรอบวัดและทำทางลาดจุดเชื่อมต่อต่างๆ ให้ผู้ที่ใช้วีลแชร์เข้าถึงได้ สะดวก ปลอดภัย ได้มาตรฐาน ตามหลักอารยสถาปัตย์ 7 ประการ คือ 1.ความเสมอภาค ทุกคนใช้งานได้ ไม่เลือกปฏิบัติ 2.ความยืดหยุ่น ใช้งานได้กับผู้ที่ถนัดซ้ายและขวา หรือปรับสูงต่ำได้ตามความสูงของผู้ใช้ 3.เรียบง่ายและเข้าใจได้ดี เช่น มีภาพ คำอธิบาย สัญลักษณ์สากล

โดยทุกกลุ่มไม่ว่าจะมีความรู้ระดับไหน อ่านหนังสือออกหรือไม่ 4.เข้าใจง่าย มีข้อมูลคำอธิบายหรือรูปภาพประกอบการใช้ 5.ปลอดภัยขณะใช้งานทนทาน 6.ทุ่นแรง สะดวก 7.มีขนาด-สถานที่ที่เหมาะสม ออกแบบคิดเผื่อสำหรับคนร่างกายใหญ่โต คนที่เคลื่อนไหวร่างกายยาก ในอนาคตจะปรับสถานที่สำคัญต่างๆ ใน จ.น่านและเตรียมขยายผลไปยัง จ.อุดรธานี จ.ระยอง จ.พิษณุโลก จ.ราชบุรี จ.กาญจนบุรี และจ.สงขลา ต่อไป