ยอดเพชร” ชมรม TO BE NUMBER ONE ต้นแบบการป้องกันยาเสพติดในกลุ่มเยาวชน

   เมื่อ : 18 ก.ค. 2568

ในโอกาสครบรอบปีที่ 23 ของโครงการ TO BE NUMBER ONE ในงานมหกรรมรวมพลสมาชิก TO BE NUMBER ONE ประจำปี 2568 เรามีข้อคิดและมุมมองดีๆจากเยาวชนตัวแทนของชมรม TO BE NUMBER ONE ในสถานศึกษาที่เป็นต้นแบบในระดับเพชรและยอดเพชร ที่มาร่วมนำเสนอผลงาน ซึ่งมาบอกเล่าถึงความสำเร็จและก้าวหน้าในการพัฒนางานมาจนถึงวันนี้


นางสาวพลอยนวมินทร์ ทำมิ (แพนด้า) ประธานชมรม TO BE NUMBER ONE โรงเรียนศรีบุญเรืองวิทยาคาร จ.หนองบัวลำภู (ยอดเพชรระดับ 6) การทำงานในชมรม TO BE NUMBER ONE ให้ประสบความสำเร็จ อย่างแรกเราต้องเริ่มจากการรักในความเป็น TO BE NUMBER ONE ก่อน


ที่สำคัญถ้าสิ่งที่เราทำแล้วมีความสุข ได้เห็นเพื่อนๆที่มาร่วมกิจกรรมกับเราได้มีความรู้ ความสามารถ มีเวทีให้กล้าแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ ก็เหมือนกับพวกเราได้รับความสำเร็จไปพร้อมกับเพื่อนๆ และยังเป็นการสร้างอนาคตให้กับคนอื่นๆได้ด้วย


นางสาวปาจรีย์ อินทรอุดม (จีน) ประธานชมรม TO BE NUMBER ONE โรงเรียนราชโบริกานุเคราะห์ จ.ราชบุรี (ยอดเพชรระดับ 5) เล่าว่าชมรม TO BE NUMBER ONE ของโรงเรียนมีนวัตกรรมเด่นๆ คือ นวัตกรรมที่ 1 SDGs TO BE แชร์ เน้นการสร้างกระแสรักษ์โลก เผยแพร่ผ่านสื่อช่องทางต่างๆของชมรม เช่น บอร์ดประชาสัมพันธ์ กลุ่ม Line และFacebook


นวัตกรรมที่ 2 Story TO BE Telling เป็นการถอดประสบการณ์ แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง ผ่านเรื่องเล่าและสารคดีคนเก่งและดีทูบีนัมเบอร์วัน เผยแพร่ผ่านสื่อช่องทางออนไลน์ เช่น แอพพลิเคชั่น , Tiktok Youtube, Facebook และInstragram


นวัตกรรมที่ 3 (QR) Code TO BE เป็นการแบ่งกลุ่มแกนนำสมาชิก จำนวน 100 คน คอยสอดส่อง ดูแล ค้นหา พื้นที่เสี่ยงเกี่ยวกับยาเสพติด ชู้สาวในโรงเรียนและชุมชนรอบโรงเรียน โดยมีการติด QR Code TO BE ในพื้นที่เพื่อให้สมาชิกและแกนนำได้รายงานผลโดยไม่ระบุตัวตนผู้แจ้ง

นายธนัช อยู่ฉิม (นะโม) ประธานชมรม TO BE NUMBER ONE โรงเรียนวัดจันทราวาส (ศุขประสารราษฏร์) จ.เพชรบุรี (ยอดเพชรระดับ 3) เล่าว่า จุดเด่นของชมรมคือเน้นการสร้างนวัตกรรมที่ใช้เทคโนโลยี เริ่มจากมองว่าปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทต่อเด็กและเยาวชนเป็นอย่างมาก


โดยเรามีแนวคิดว่าเราไม่ต้องการให้เด็กและเยาวชนใช้เทคโนโลยีในทางที่ผิด จึงได้คิดค้นนวัตกรรมขึ้นมาโดยให้น้องๆที่เข้าร่วมกิจกรรมเป็นอินฟลูเอ็นเซอร์ ผ่านสื่อช่องทางต่างๆ ช่วยให้เด็กๆได้ใช้สื่อโซเชียลให้เกิดประโยชน์และได้ต่อยอดเป็นองค์ความรู้


นางสาวภัทธานิษฐ์ อินทานุกูล (อิงอิง) ประธานชมรม TO BE NUMBER ONE โรงเรียนสุราษฎร์พิทยา จ.สุราษฎร์ธานี (ยอดเพชรระดับ 1) เล่าว่า ตัวอย่างนวัตกรรมเด่นของชมรมมีชื่อว่า “กะหล่ำปลี” เนื่องมาจากโครงการ “ใครติดยายกมือขึ้น”


ซึ่งมีการใช้กะหล่ำปลี เป็นสัญลักษณ์ให้นักเรียนกล้าเปิดใจมากขึ้น ใช้การถามคำถาม คำบอกเล่าห่อเป็นรูปทรงกลมคล้ายกะหล่ำปลี ให้สมาชิกได้เปิดใจผ่านการเขียนเกี่ยวกับความรู้สึก ปัจจัยสาเหตุต่างๆในการใช้สารเสพติด เพราะการช่วยให้เยาวชนห่างไกลยาเสพติดเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายเพื่อให้ประสบความสำเร็จ