BDE ประเมินผลสัมฤทธิ์ พ.ร.บ. ดีอี – สภาดิจิทัล พร้อมทบทวนกฎหมาย ปรับปรุงให้ทันสมัย

   เมื่อ : 15 ก.ค. 2568

นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (BDE) เป็นประธานแถลงข่าวการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสื่อมวลชน เข้าร่วมงาน ณ ห้องประชุม BB 401 ชั้น 4 โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ


เลขาธิการคณะกรรมการฯ (BDE) กล่าวว่า พระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560 (พ.ร.บ.ดีอี) และพระราชบัญญัติสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2562 (พ.ร.บ.สภาดิจิทัล) เป็น 2 กฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ


ซึ่งมีความสำคัญยิ่งต่อการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ยุคดิจิทัลอย่างยั่งยืน การบังคับใช้กฎหมายนี้ได้ดำเนินการมาในระยะหนึ่งแล้ว และถึงรอบระยะเวลาที่กำหนดซึ่งจะต้องมาพิจารณาถึงผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้กฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้อย่างรอบด้าน


โดยในช่วงที่ผ่านมา BDE ได้ดำเนินกระบวนการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายอย่างเข้มข้นและครอบคลุมโดยได้ให้ความสำคัญกับการรับฟังความคิดเห็นจากทุกมิติ เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะอันเป็นประโยชน์ ซึ่งจากการรับฟังความเห็น และการศึกษาวิเคราะห์การบังคับใช้ พ.ร.บ. ดีอี


พบว่า มีข้อสรุปหลายประการด้วยกัน โดยเฉพาะในแง่ของเป้าหมายและแนวทางนโยบายและแผนระดับชาติ นับตั้งแต่ พ.ร.บ. ดีอี มีผลบังคับใช้เป็นเวลากว่า 7 ปี กฎหมายฉบับนี้ได้มีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานและขับเคลื่อนการพัฒนาดิจิทัลของประเทศในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น การจัดทำและดำเนินการตามนโยบายและแผนระดับชาติด้านดิจิทัล


การจัดตั้งกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) การขับเคลื่อนดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและการขับเคลื่อนดิจิทัลเพื่อสังคม รวมไปถึงการพัฒนาบริการดิจิทัลภาครัฐ และการจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA)

หลังจากที่ BDE ได้ประเมินผลสัมฤทธิ์กฎหมายทั้ง ๒ ฉบับ แล้วนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการวิเคราะห์ว่าสมควรที่จะแก้ไขกฎหมาย หรือปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติตามกฎหมายหรือไม่ อย่างไร และหากต้องมีการปรับปรุง ก็จะนำเข้าสู่กระบวนการจัดทำร่างกฎหมายเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติดังกล่าวและดำเนินการรับฟังความคิดเห็นตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป


ทั้งนี้ ต้องขอขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน และประชาขน ที่ให้ความร่วมมือในการประเมินผลสัมฤทธิ์ของ พ.ร.บ. ดีอี และ พ.ร.บ. สภาดิจิทัลฯ ในทุกช่องทางเป็นอย่างดี ความเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้รับมีประโยชน์ในการนำมาปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์


รวมถึงปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล ขับเคลื่อนประเทศก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลอย่างยั่งยืน