กรมวิทย์ฯ เฝ้าระวังสายพันธุ์เชื้อไข้หวัดใหญ่ ในไทย ย้ำวัคซีนยังช่วยป้องกันได้
นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึง สถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ในเขตซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ ระบาดมากในช่วงฤดูหนาวและฤดูฝนตามลำดับ สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2566–ปัจจุบันทั่วโลก
พบไข้หวัดใหญ่ชนิด A(H3N2) ไข้หวัดใหญ่ชนิด A(H1N1) pdm09 และไข้หวัดใหญ่ชนิด B (Victoria Lineage) เป็นสาเหตุของการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล
ส่วนผลการวิเคราะห์สารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ และตรวจจำแนกสายพันธุ์โดยการวิเคราะห์ลำดับพันธุกรรมในปัจจุบันจากทั่วโลก พบว่า
- ไข้หวัดใหญ่ชนิด A(H1N1) pmd09 พบสัดส่วน 33.87% ซึ่งเป็นสายพันธุ์ A(H1N1) pdm09 clade 6B.1A.5a.2a.1 สัดส่วน 14.29% และ clade 6B.1A.5a.2a สัดส่วน 85.71%
- ไข้หวัดใหญ่ชนิด A(H3N2) พบสัดส่วน 53.23% ซึ่งเป็นสายพันธุ์ A(H3N2) clade
3C.2a1b2a.2a.2a.3a.1 สัดส่วน 95.45% และ clade 3C.2a1b.2a.2a.3 สัดส่วน 1.52%
- ไข้หวัดใหญ่ชนิด B กลุ่ม Victoria สัดส่วน 12.9% โดย 100% เป็นสายพันธุ์ B/Victoria clade VIA.3a.2
สำหรับประเทศไทย สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ในปัจจุบัน พบว่าไข้หวัดใหญ่ A(H1N1) pdm09 มากที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 41.25% รองลงมาคือไข้หวัดใหญ่ ชนิด A(H3N2) 32.24% และ ชนิด B(Victoria) มีสัดส่วน 26.51% ตามลำดับ
จากการวิเคราะห์สายพันธุ์ของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทย (1 ตุลาคม 2566 - กันยายน 2567) ด้วยการประยุกต์ใช้เทคนิคการวิเคราะห์ลำดับพันธุกรรมทั้งจีโนม และประเมินความสอดคล้องกับสายพันธุ์วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่องค์การอนามัยโลกประกาศสำหรับซีกโลกใต้ ปี 2024 พบดังนี้
- ไข้หวัดใหญ่ชนิด A/Victoria/4897/2022 (H1N1) pdm09-like virus (6B.1A.5a.2a.1): พบในประเทศไทยช่วงตุลาคม 2566 ถึงกันยายน 2567 ในสัดส่วน 5.32% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ไม่สูงนัก แต่สำหรับวัคซีนที่ใช้ในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2566 นั้น เป็นสายพันธุ์ A/Sydney/5/2021 (H1N1) pdm09-like virus ที่แตกต่างจากสายพันธุ์นี้เล็กน้อย
แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของสายพันธุ์ที่ใช้ในวัคซีนเมื่อเทียบกับสายพันธุ์ที่ระบาดในช่วงเวลาต่อมาในประเทศไทย
- ไข้หวัดใหญ่ชนิด A/Thailand/8/2022 (H3N2)-like virus: สายพันธุ์นี้พบในประเทศไทย 100% และตรงกับสายพันธุ์ที่ระบุในวัคซีนซีกโลกใต้ ปี 2024 ซึ่งแสดงถึงความสอดคล้องสูงในการป้องกันจากวัคซีน
- ไข้หวัดใหญ่ชนิด B/Austria/1359417/2021 (B/Victoria lineage)-like virus: สายพันธุ์นี้พบในประเทศไทย 100% และตรงกับสายพันธุ์วัคซีนซีกโลกใต้ ปี 2024 ซึ่งแสดงถึงความสอดคล้องในการป้องกันจากวัคซีน
ส่วนผลการวิเคราะห์การกลายพันธุ์ของยีนที่ควบคุมการผลิตเอนไซม์นิวรามินิเดส (Neuraminidase:NA) จากเชื้อไข้หวัดใหญ่ ประจำเดือนกันยายน 2567 จำนวน 85 ตัวอย่าง (อ้างอิงข้อมูลการกลายพันธุ์จากองค์การอนามัยโลก 7 มีนาคม 2566) ดังนี้
1.เชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิด A/H3 : ไม่พบการกลายพันธุ์ที่บ่งชี้การดื้อยาที่ตำแหน่ง E119I/V R224K R292K และ N294S เชื้อในสายพันธุ์นี้ยังคงตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาต้านไวรัสได้ดี
2.เชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิด A(H1N1) pdm09 : พบการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่ง H275Y ซึ่งบ่งชี้ถึงการดื้อยาโอเซลทามิเวียร์ในจำนวน 1 สายพันธุ์ ไม่พบการดื้อยาที่ตำแหน่ง R152K และ N295S แม้ว่าการพบยีนดื้อยาที่ตำแหน่ง H275Y จำเป็นต้องได้รับการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
แต่เหตุการณ์การพบเชื้อดื้อยา ยังเกิดขึ้นได้ไม่บ่อย โดยพบเชื้อที่มีการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่งนี้ทั้งสิ้น 6 สายพันธุ์ พบครั้งแรกในเดือนมีนาคม 2567 จำนวน 1 สายพันธุ์ เดือนสิงหาคม 2567 จำนวน 4 สายพันธุ์ และพบครั้งล่าสุดในเดือนกันยายน 2567 จำนวน 1 สายพันธุ์ ดังนั้นสถานการณ์การดื้อยายังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้
3. เชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิด B : ไม่พบการกลายพันธุ์ที่บ่งชี้การดื้อยาที่ตำแหน่ง E119A/D/G/V R152K I222L R292K และ R374K สายพันธุ์นี้ยังคงตอบสนองต่อการรักษาตามปกติ
ปัจจุบันสถานการณ์ยังคงอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ ทั้งนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังคงร่วมกับเครือข่ายเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง เพื่อวางมาตรการการควบคุมและป้องกันโรคได้อย่างเหมาะสมและทันเหตุการณ์ ซึ่งจะช่วยให้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดและปรับมาตรการการรักษาได้อย่างเหมาะสม
เน้นย้ำว่า วัคซีนที่ใช้ในประเทศไทยยังสามารถป้องกันสายพันธุ์ของเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่พบในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี ขอให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ทุกปี ควบคู่กับการดูแลป้องกันตนเอง ด้วยการล้างมือบ่อยๆ ไม่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัด และหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัดและอากาศถ่ายเทไม่สะดวกเป็นเวลานาน หากสงสัยว่ามีอาการป่วย แนะนำให้สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง